ลูกจ้างเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท จากเดิม 492 บาท อัตราเท่ากันทั้งแผ่นดิน

225
0
Share:
ลูกจ้าง เรียกร้องปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท จากเดิม 492 บาท อัตราเท่ากันทั้งแผ่นดิน

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหภาพแรงงาน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องเร่งด่วนใน 2 เรื่องคือต้องการให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท อัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้ ตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และรัฐต้องลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทั้งการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าน้ำมัน แก๊ซ ค่าขนส่ง และค่าอื่นๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เพราะมองว่าเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ ประชาชนทุกภาคส่วนต้องรับภาระจากที่รัฐทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้ไม่ผลิตไฟฟ้า แต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย”

ทั้งนี้รัฐควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาสที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยมีประชาชนเป็นตัวประกัน และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ควรเพิ่มรายได้โดยเฉพาะภาคแรงงาน เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างในภาพรวมได้อย่างแท้จริง รวมถึงติดตามข้อเรียกร้องเดิมมาหลายปี เป็นสิบข้อที่รัฐยังไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงใจ

รวมทั้งยังได้ทวงถามข้อเรียกร้องเดิม คือการขอให้รัฐเข้าไปรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องี่กลุ่มแรงงานเรียกร้องทุกปี ในทุกๆ วันแรงงานแห่งชาติ หรือวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด และฉบับที่ 183 เกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็ก เช่น การลาคลอด การให้นมบุตรต่างๆ โดยได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องตั้งแต่รัฐบาลยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกัน จนกระทั่งมีการดำเนินการแก้ไข แต่ก็ปรับไปปรับมาจนตอนนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ สสรท. ยังได้ ชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงด้วย โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สรส.) เรียกร้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท โดยได้ใช้ข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2560 มาสรุป คือ

– ค่าใช้จ่ายรายวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) 219.92 บาท ตกเป็นเดือนละ 6,581.40 บาท
– ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท

หากนำค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือนมารวมกันจะอยู่ที่ 21,382.92 ดังนั้น ค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท แต่ตอนนั้น คสรท. และ สรส.ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้นตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1พ.ค.ที่ผ่านมา หรือวันแรงงานแห่งชาติ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานกลุ่มต่างๆ พร้อมด้วยแรงงานข้ามชาติ รวมกว่า 1,000 คน ได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 พฤษภาคมวันกรรมกรสากล” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยมีการตั้งขบวนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องด้านแรงงาน ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสมพาศ นิลพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือ ก่อนจะนำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรีต่อไป