ลูกหนี้ 25 ล้านบัญชีคนไทยเสี่ยงสูง พบกว่า 30% เป็นหนี้เสียแล้ว

489
0
Share:

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า พอร์ตลูกหนี้ ที่อยู่ตรงหน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1.8 ล้านราย หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท วันนี้ต้องยอมรับว่ามีทั้งที่แย่ลง และปรับตัวดีขึ้นภายใต้พายุที่เข้ามาหลายระลอก ดังนั้น การช่วยเหลือลูกหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ อาจต้องประคองการช่วยเหลือให้ยาวนานขึ้นไปอีก และภายใต้หน้าผาเอ็นพีแอล 2 ล้านล้านบาท วันนี้ ถือว่ายังมีความเสี่ยงและความเปราะบางอยู่ เพราะหากดูข้อมูล คุณภาพหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่ผ่านมา ในกลุ่มสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.93%

โดยระบบก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการติดตาม การชะลอการผ่อนคันเร่ง วันนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้รายได้ลูกหนี้ เหมาะกับภาระหนี้ที่ต้องชำระ ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องประคอง และเฝ้าดูต่อเนื่อง”

ดังนั้นภาคธนาคารกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องประคองต่อเนื่อง ภายใต้พายุที่เข้ามาหลายระลอก และ ยาวนานมากขึ้น หากดูมาตรการ การช่วยเหลือลูกหนี้ จากข้อมูลของ ธปท.ล่าสุด ณ 11 ก.ค. พบว่า การแก้หนี้เดิม ผ่านการให้ความช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีจำนวนบัญชี ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.87 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นลูกหนี้ของแบงก์รัฐ 2.26 ล้านบัญชี และนอนแบงก์ กับธนาคารพาณิชย์ที่ 1.61 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.82 ล้านล้านบาท มาจากแบงก์พาณิชย์ และนอนแบงก์ 1.86 ล้านล้านบาท และแบงก์รัฐ 9.6 แสนล้านบาท

ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการ Soft loan พบว่า มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมีทั้งสิ้น 132,096 ราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อที่ 320,394 ล้านบาท ซึ่งหากแยกรายมาตรการ พบว่า พักทรัพย์พักหนี้ มียอดเข้าโครงการทั้งสิ้น 360 ราย รวม 49,603 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟู มีคนเข้าโครงการทั้งสิ้น 54,309 ราย รวมเป็นเงิน 182,194 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือผ่านมาตรการคลินิกแก้หนี้ ปัจจุบันมีบัญชีที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้โครงการแล้ว 84,698 บัญชี

ทั้งนี้ ลูกหนี้ 25 ล้านบัญชีมีปัญหา หากดูข้อมูลลูกหนี้บนระบบข้อมูลของเครดิตบูโร ทั้งข้อมูลจากระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ ธปท. พบว่า มีทั้งหมด 79.24 ล้านบัญชี ส่วนนี้ มีหนี้ที่ต้องเฝ้าระวังถึง 25 ล้านบัญชี ทั้งกลุ่มที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน พบว่า มีทั้งสิ้น 1.7 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ สินเชื่อบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล 8.18 แสนบัญชี

ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 3.84 แสนบัญชี และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.97 แสนบัญชี สินเชื่อบัตรเครดิตที่ 1.63 แสนบัญชี สินเชื่อบ้าน 7.1 หมื่นบัญชี

ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว มีทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบัญชี มากที่สุดคือ สินเชื่อบัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล มี 3.95 ล้านบัญชี ถัดมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เครื่องจักร 2.2 ล้านบัญชี และบัตรเครดิต 1 ล้านบัญชี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6.28 แสนบัญชี ที่อยู่อาศัย 1.42 แสนบัญชี รวมไปถึงลูกหนี้ที่อาจตกชั้นจากลูกหนี้กลุ่มปกติที่มีความเสี่ยงอีกราว 15 ล้านบัญชี