วันแม่ปีนี้เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 10 ปี

781
0
Share:

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันแม่ปีนี้พบว่า มีการจับจ่ายน้อยลง โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 13,870 ล้านบาท ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี
.
โดยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าประชาชนร้อยละ 70.4 ยังคงมีแผนเดินทางไปหาแม่ แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีแผนเดินทางไปพบแม่ถึงร้อยละ 93.7
.
กิจกรรมส่วนใหญ่คือพาแม่ไปทำบุญ/และซื้อของขวัญให้แม่ ทั้งเงินสด เฉลี่ย 4,797 บาท ซื้อพวงมาลัยไหว้แม่ 335 บาท และซื้อเสื้อผ้ารองเท้าให้แม่ ประมาณ 2,593 บาท รวมทั้งกินข้าวกับครอบครัว ซึ่งโดยรวมจะใช้จ่ายเท่าๆกับปีที่แล้ว
.
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่การใช้จ่ายในช่วงวันแม่ปีนี้ขยายตัวต่ำ เนื่องจากไม่มีสถานการณ์อะไรรุนแรง หากเทียบกับปี 2558 ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือชัดดาวน์กรุงเทพฯ และการเมืองก็ผ่านการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัยและเศรษฐกิจ จึงไม่มีใครอยากจับจ่าย สะท้อนชัดเจนว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ไม่ดีจริงๆ
.
หากรัฐบาลยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ 100,000 ล้านบาท ทั้งการประกันรายได้ เพิ่มรายได้ให้ภาคการเกษตรได้ การเดินหน้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และเดินหน้าโครงการเมกกะโปรเจค ต่างๆ จะส่งผลกระทบกับรายได้ของประชาชน มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับมีปัญหาภัยแล้ง จึงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวยาวไปจนถึงไตรมาสที่ 4 และมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 หรือเฉลี่ยอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 2.9-3.2 มากขึ้น จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.2 – 3.5
.
ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ร้อยละ 0.25 นั้น ยังสามารถปรับลดลงได้อีก ตามนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่หลายประเทศเริ่มใช้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ .
.
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค. 2562 อยู่ที่ 75.0 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค.2560จากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ปัญหาสงครามการค้า สถานการณ์การเมือง การส่งออกที่ลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตร ความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้ง และเหตุการณ์ระเบิดที่กทม.