วิจัยพบระยะยาว “โควิด-19” ทำลายระบบ ‘สมอง’ มากกว่าปอด ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 60% มีผลต่อระบบความจำและการรับรู้

668
0
Share:

เว็บไซต์ฟอร์บส์ รายงานว่า สมาคมอัลไซเมอร์ ได้จัดการประชุมนานาชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งได้มีการนำเสนองานวิจัยที่ให้ความกระจ่างชัดว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองในระยะยาว ซึ่งพบว่าโควิดทำลายสมองรุนแรง แต่เซลล์สมองสามารถฟื้นตัวได้ โดยการติดเชื้อโควิด-19 สามารถนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์สมองแบบเฉียบพลัน ในช่วงเกิดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยไอซียู และยังผลการวิจัยครั้งใหม่ชี้ว่า เซลล์สมองเหล่านี้ดูเหมือนจะฟื้นตัว หลังจาก 3 – 6 เดือน

.

ทางด้าน ‘เนลลี แคนเบิร์ก’ นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กของสวีเดน ได้กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ตรวจวัดค่าดัชนีทางชีวภาพในสมองของผู้ป่วยบางราย พบว่าเซลล์สมองได้รับความเสียหายระหว่างป่วยโควิด-19 อย่างรุนแรง และกลับเข้าสู่ปกติ ไม่กี่เดือนหลังการติดเชื้อ แม้ว่า ผู้ป่วยบางรายจะเกิดปัญหาในเรื่องระบบการรับรู้ในระยะยาว โดยอาจเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบของสมอง รวมถึงการบาดเจ็บของหลอดเลือด และปัญหาการแข็งตัวของเลือด

.

ขณะที่ กาเบรียล อา. เดอ เอรูสเกอะ นักวิจัยด้านประสาทวิทยาของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองซานอันโตนิโอ ประเทศสหรัฐ เผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบ 60% มีปัญหาด้านความจำและการรับรู้ ในกลุ่มคนวัยนี้ที่สูญเสียประสาทดมกลิ่นระหว่างการติดเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มจะมีปัญหาสมองมากกว่าอาการอื่นๆ นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคโควิด-19 กับโรคทางสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์

.

ทางด้าน จอร์จ ดี. วาวูชกัส ผู้ร่วมวิจัยด้านประสาทวิทยาจากโรงพยาบาลกองทัพเรือเอเธนส์ ในกรีซ พบว่าไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ประสบปัญหาหลังจากติดเชื้อโควิด-19 จากการศึกษาพบว่าคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี มีอาการบกพร่องทางสติปัญญา รวมถึงปัญหาความจำระยะสั้นและความบกพร่องในรูปแบบอื่นๆ หลังจากติดเชื้อ และมีแนวโน้มว่า ผู้ที่มีอาการเมื่อยล้าหลังป่วยโควิด-19 และปอดทำงานไม่ดี แม้จะหายจากการติดเชื้อในครั้งแรก จะมีปัญหาทางสมองมากที่สุด