สธ.ชี้ยอดติดโควิด-19 เพิ่มจากคนยังไม่เคยติดโควิด คนไทยติดซ้ำถึง 3 ครั้ง

203
0
Share:
สาธารณสุข ชี้ยอดติด โควิด-19 เพิ่มจากคนยังไม่เคยติดโควิด คนไทยติดซ้ำถึง 3 ครั้ง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา จำนวนผู้เสียชีวิตในสัปดาห์นี้ลดลง จากเดิม 64 คน เหลือ 42 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ พร้อมย้ำว่าเมื่อสอบทราบข้อมูลของผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่รับวัคซีนมานาน ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลพบว่า คนสูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป หากติดเชื้อโควิด ยังมีอาการเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า, ถ้าอายุ 70 ปีขึ้น มีโอกาสเสียชีวิต 4 เท่า

ดังนั้น หากใครได้รับวัคซีนนานเกิน 6 เดือน แล้วควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ลูกหลานไม่ต้องกังวลถึงอันตราย ควรรีบพาคนในครอบครัวไปรับวัคซีน และหากตัวเองมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผู้สูงอายุรับเชื้อ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนเชื้อโควิด-19 จากการติดตามของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นสายพันุ์ XBB.1.16 ซึ่งความสามารถของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวไม่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญในการแพร่ระบาด เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ติดเชื้อง่าย แต่ความรุนแรงเท่าเดิม โดยอัตราการครองเตียงภาพรวมทั่วประเทศพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ 22% ไม่ได้มากกว่าเดิม เพียงการติดเชื้อของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นใน รพ.เอกชนบางแห่ง แต่เตียงในสังกัด กทม. หรือโรงเรียนแพทย์ปกติ และพบผู้ป่วยหนัก 253 คน

ทั้งนี้ เตรียมประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล เนื่องจากพบว่ามีอัตราการติดเชื้อมากขึ้น จากทั้งการทำกิจกรรมปกติ เข้าสู่ฤดูฝน และเปิดเทอม คนติดเชื้อเป็นคนหนุ่มสาว มีอาการน้อย ทำให้แพร่โรคได้ง่าย ดังนั้น คนป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย และหากสนทนากับผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อป้องกัน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในรอบการระบาดครั้งนี้พบเห็นคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ทยอยติดเชื้อ ต่อไปคนที่เป็นโนวิด หรือไม่เคยป่วย จะค่อยๆ ลดลง ตอนนี้คนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วร้อยละ 97% โดยพบว่ามีคนติดเชื้อซ้ำมากสุดถึง 3 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้ผู้สูงอายุทยอยมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะหากเจ็บป่วยอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิต จะมีอาการปอดบวม และมักมีอาการรุนแรงจากโรคแทรกซ้อน เช่น ภาวะของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง พบว่าหากติดเชื้อโควิด อาการจะรุนแรงมากขึ้น

นพ.ณัฐพงศ์ วงค์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การครองเตียงภาพรวมอยู่ที่ 21.92% การบริหารเตียงยังคงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนเตียงระดับ 3 และ 2.2 ยังมีเพียงพอ ส่วนอาการของผู้ป่วยที่พบในขณะนี้ มีอาการน้อย เกณฑ์การให้ยา จะเน้นในคนป่วยที่มีอาการ และมีโรคร่วมเป็นหลัก คนไม่มีอาการรุนแรง ไม่มีโรคประจำตัว รับยาตามอาการ คนที่มี อาการเล็กน้อย แต่มีโรคร่วม อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แต่คนที่มีโรคร่วม อาจให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือแพกโลวิดซ์ แต่ปัญหาเตียงที่พบใน รพ.เกิดจาก คนที่มีโรคร่วม เมื่อไปตรวจรักษาโรคอื่น แต่ก็พบติดเชื้อโควิด บางคนประสงค์นอนรักษาตัวใน รพ. ในจำนวนนี้มีอาการ ซึ่งบางคนไม่มีอาการรุนแรง สามารถรับยาแบบผู้ป่วยนอกได้