สธ.เผยผลวิจัยฉีด”วัคซีนเข็มบูสเตอร์”เข้าใต้ผิวหนังมีผลข้างเคียงน้อย-ประหยัดวัคซีนมากขึ้น

495
0
Share:

สธ.เผยผลวิจัยฉีด”วัคซีนเข็มบูสเตอร์”เข้าใต้ผิวหนังมีผลข้างเคียงน้อย-ประหยัดวัคซีนมากขึ้น
.
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เข้าใต้ผิวหนัง พบว่าสามารถลดปริมาณวัคซีนลงจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จากเดิมที่ฉีดได้ 1 คนจะสามารถฉีดได้ 5 คน และภูมิคุ้มกันหลังทั้งสองวิธีใกล้เคียงกัน ในขณะที่ผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
.
สำหรับผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และต้องฉีดเข็มกระตุ้น ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี จำนวน 95 คน สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. จำนวน 30 ราย หลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว 4-8 สัปดาห์ ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อ
2. จำนวน 31 ราย หลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว 4-8 สัปดาห์ ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยฉีดแบบเข้าใต้ผิวหนัง และ
3. จำนวน 34 ราย หลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วมากกว่า 8-12 สัปดาห์ ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยฉีดแบบเข้าใต้ผิวหนัง
.
จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง จะเกิดอาการข้างเคียงเฉพาะที่ หรืออาการบริเวณผิวหนังมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น คลำแล้วเป็นไต, เจ็บ, คัน, ปวด, บวม และแดง ในขณะที่อาการทางร่างกายลดน้อยลง เช่น อาการเป็นไข้, อาเจียน, ปวดศรีษะ, อ่อนเพลีย และปวดเมื่อย ส่วนการตอบสนองภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ ในส่วนของระดับแอนติบอดี้ต่อเซลล์หนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจากการวัดระดับแอนติบอดี้ในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นมาใกล้เคียงกัน ในขณะที่ใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น
.
แต่ยังคงฉีดวัคซีนวิธีเดิมแบบเข้ากล้ามเนื้อ ยกเว้นพื้นที่ที่ต้องการประหยัดวัคซีน และยังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง หากข้อมูลเพียงพอ และมีความจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ จึงอาจจะมีการพิจารณาวิธีการฉีดวัคซีนนี้มาเป็นทางเลือกนโยบายในการฉีดวัคซีนต่อไป ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เข้าใต้ผิวหนัง จะเกิดอาการข้างเคียงเป็นไข้อยู่ที่ 5% ซึ่งน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่มีอาการไข้ถึง 30%