สนพ.ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว

780
0
Share:

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว แม้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวลง หลังกลุ่มโอเปกพลัสตกลงขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปเดือน ก.ค. 2563 และเพิ่มความเข้มงวดให้สมาชิกในการปรับลดการผลิต
.
เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง สัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล และองค์การอนามัยโลก ออกมาแถลงเหตุการณ์พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย การมีผู้ติดเชื้อในสหรัฐที่พุ่งสูงมากขึ้นในกว่า 20 รัฐ โดยกังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดรอบ 2
.
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในช่วง 8 -14 มิ.ย. 2563พบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40.73 และ 37.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.46 และ 0.57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดเชื่อมั่นว่าการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. จะช่วยชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่หายไป ส่งผลให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น
.
อย่างไรก็ตามสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบ จะปรับตัวลดลงจาก 12.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2562 สู่ระดับ 11.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2563
.
ด้านราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย เบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45.07 และ 42.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.90 และ 3.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
.
สำหรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยความต้องใช้น้ำมันดีเซลในมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง
.
ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.3898 บาท/ดอลลาร์?สหรัฐ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.47 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.46 บาท/ลิตร ส่งผลให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.29 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.61 บาท/ลิตร