สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือชี้ส่งออกไทยปี 66 ชะลอตัวที่ 3% จับตาปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อ

250
0
Share:
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ชี้ ส่งออก ไทยปี 66 ชะลอตัวที่ 3% จับตาปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% หรือมีมูลค่า 290,000-293,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ คือ จีนผ่อนคลายโควิด-19 สินค่าการส่งออกที่ยังเติบโต การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าธนาคารกลางได้ออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของตลาดหลักเริ่มมีการชะลอตัวลง ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และวัตถุดิบที่มีราคายังคงมีผันผวน ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น โดยจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปีหน้า

อย่างไรก็ดี สรท. ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาติดตามและสนับสนุนในการส่งออก โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไปซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขอให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอคคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล และเร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai-UK, Thai-Turkey, RCEP (อินเดีย) และ FTAAP

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สรท.ยังได้จัดทำ White Paper 2022: CLMVT Connectivity Multimodal Transportation in the Next Normal หรือ “รุกรวดเร็ว รถ-เรือ-ราง-ลิ้งค์” เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการเตรียมความพร้อมโอกาสของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้ากระจายสินค้าไปยังเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของไทยและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMVT โดยใช้การเชื่อมโยงเครือข่ายสำคัญภายในประเทศในลักษณะการขนส่งแบบ Multimodal Transport รวมทั้งเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ดี White Paper ฉบับนี้จึงได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์รายละเอียด เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนในการขนส่งไว้เป็นทางเลือกในการกำหนดรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งระบบทางราง ทางถนน (บก) และทางน้ำ วิเคราะห์ความท้าทาย โอกาส อุปสรรค ในแต่ละรูปแบบของการขนส่งทางเลือก เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต