สภาพคล่องของ กฟผ. ตึงสุด เสนอเจ็บแต่จบ ขอขึ้นค่าไฟถึงหน่วยละกว่า 6 บาท

677
0
Share:

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะมีผลทำให้ กฟผ.ขาดสภาพคล่อง เราได้แจ้งกระทรวงพลังงานไปแล้ว และ ครม. ก็อนุมัติให้ กฟผ. ไปกู้เงินมาเพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง โดยรัฐค้ำประกันให้ในวงเงิน 25,000 ล้านบาท และให้ กฟผ.ทยอยกู้ตามความจำเป็น ซึ่งขณะนี้หลักการกู้เงินได้เข้าบอร์ด กฟผ. ไปแล้ว

ขณะนี้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าไว้ประมาณ 83,010 ล้านบาท และ กฟผ.ได้เสนอสูตรค่าไฟต่อ กกพ.ไป 4 เคส ก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนถึงแนวทางการพิจารณาขึ้นค่า Ft งวด 3/2565 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ยังไม่ได้จ่ายค่าเชื้อเพลิงตามบิลให้กับ ปตท และยังไม่ได้เรียกเก็บคืนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน

ส่วนกระบวนการกู้ก็จะดำเนินการต่อไปตามระเบียบที่กำหนดอำนาจวงเงิน หากกู้เยอะๆ ก็ต้องให้บอร์ดอนุมัติ แต่จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ หรือวงเงินเท่าไรนั้น ขึ้นกับการพิจารณาทางฝ่ายบัญชี กฟผ. ที่จะดำเนินการต่อไป” ดร.จิราพรกล่าว

แหล่งข่าว เปิดเผยว่าเงื่อนเวลาในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าของ กฟผ.นั้นจะเชื่อมโยงกับปัจจัยหลัก ได้แก่ 3 สมมุติฐาน และ 1 ข้อเสนอของกฟผ. จากค่าเอฟทีงวดที่ 3/2565 โดย กฟผ.ยื่นข้อเสนอที่เรียกว่าเจ็บแต่จบโดยให้เรียกเก็บค่าไฟเอฟทีสูงมากถึง 236.97 สต./หน่วย (+212.2 สต./หน่วย) ค่าไฟฟ้าจะถูกปรับขึ้นสูงถึง 6.12 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สูงกว่าสมมุติฐานทั้ง 3 สูตรที่ กกพ.ตั้งเอาไว้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น

สำหรับสาเหตุที่ กฟผ.ต้องการให้เรียกเก็บค่า เอฟทีสูงถึง 236.97 สต./หน่วย เพราะปัจจุบันสภาพคล่อง กฟผ.เริ่มถดถอยลงแล้ว แม้ว่า กฟผ.จะยังมีกำไรมากถึง 50,000 ล้านบาทก็ตาม แต่ด้านกระแสเงินสดกลับเริ่มติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/2565