สภาพัฒน์เผยสาธารณสุขขอเงินกู้ 5 หมื่นล้าน โปะค่ารักษาโควิดให้คนไทย

390
0
Share:
สภาพัฒน์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำเรื่องขอใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโควิด-19 ให้กับประชาชน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นค่ารักษาที่จ่ายไปแล้วในช่วง พ.ย.2564-ม.ค.2565 จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท และ เป็นค่ารักษาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย. อีก 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ อยู่ระหว่างพิจารณา

เนื่องจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท เหลือเงินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้สำหรับแผน 1 ด้านสาธารณสุข 1.9 แสนล้านบาท แผน 2.เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด 1.6 แสนล้านบาท และ แผน 3.เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านบาท

สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 ในภาพรวม ในปี 2563 เบิกจ่าย 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2564 เบิกจ่าย 2.7 แสนล้านบาท รวมกันประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ซึ่งการรักษาดังกล่าว มีทั้งจากการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท , พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท , งบกลาง และงบประมาณของหน่วยส่วนอื่น ๆ เช่น สปสช. ไม่ได้มาจากเงินกู้ พ.ร.ก.ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ได้สิ้นสุดไปแล้วในปี 2564 มีการอนุมัติเงินกู้แล้ว 9.82 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 9.44 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบในเดือน พ.ค. อาจจะมีล่าช้าไปบ้างจนถึงเดือนก.ย.2565 ซึ่งเป็นส่วนน้อย โดยสรุป การใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ใช้ในแผน 1 จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท , แผน 2 ที่ 7.9 แสนล้านบาท และแผน 3 ที่ 2.9 แสนล้านบาท