สภาพัฒน์’ มองเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปี จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะท่องเที่ยว

388
0
Share:

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวในงานสัมมนา “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ และผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม ภาคการเกษตรยังไม่ขยายตัวมากขึ้น ยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเดิม ไม่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า

ขณะที่ด้านอุปสงค์ใน 2-3 ปีข้างหน้ายังมีข้อจำกัด เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากโควิด-19 เเละส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ยังขยายตัวได้ดี แต่ในอนาคตหากมีปัญหาสงครามการค้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

ส่วนภาวะการแข่งขันในประเทศนั้น SMEs ไม่สามารถแข่งขันได้ และมีปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีต่างๆ แต่ในภาคการเงิน มีความก้าวหน้าการบริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ทำให้คนมีความคุ้นเคยกับสังคมไร้เงินสดในอนาคต นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดในตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง และมีปัญหาการจ้างงานโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและ SMEs

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ส่งผลเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญหลังโควิด-19 มองว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นลักษณะ K-shape เพราะบางภาคเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว นำไปสู่ความผันผวนของเศรษฐกิจและภาคการเงิน รวมถึงความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายในและระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี่ หรือเรื่องภาคการเงินที่เข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น จะกลายเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง เพราะการเชื่อมโยงภาคการเงินในอนาคต หากเกิดวิกฤติทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รวดเร็วมากขึ้น ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้ไทยสามารถยืนอยู่ได้

นายดนุชา กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องพยายามลดความเสี่ยงให้มากขึ้น ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจภาคใดภาคหนึ่งมากจนเกินไป และทำให้ภาคเศรษฐกิจยืดหยุ่นมากขึ้น ลดความเสี่ยง และสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนมากขึ้น และระบบเศรษฐกิจในอนาคตต้องคำนึงเรื่องการกระจายอำนาจการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย

ทั้งนี้ในการเดินไปข้างหน้าไปสู่เศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รองรับวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี ภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้มีระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอนาคตได้