“สภาพัฒน์” เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ติดลบทรุดกว่า 2.6% คาดทั้งปี 2564 โต 2%

465
0
Share:

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่าได้ขยายตัวติดลบ -2.6% แม้เศรษฐกิจบางส่วนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีสาขาที่หดตัวได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน -5% การท่องเที่ยว -63.5% และการบริการทางด้านอาหาร -5% โดยเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2564

.
ซึ่งสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2% โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 1.6% การอุปโภคบริโภครัฐบาล 5.1% การลงทุนภาคเอกชน 4.3% การลงทุนภาครัฐ 9.3% และการส่งออกขยายตัว 10.3% ซึ่งการคาดการณ์นี้ได้พิจารณาภายใต้สมมติฐานควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในช่วงเดือน มิ.ย.64 เป็นต้นไป

.
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี64 ยังมีปัจจัยจากปริมาณการค้าโลก ที่ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลมายังประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการกระจายวัคซีน และรวมถึงการขับเคลื่อนเบิกจ่ายภาครัฐ ด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี ต้องไม่ต่ำกว่า 92.5% ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ความล่าช้าในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 5 แสนราย มีรายได้ 1.5 แสนล้านบาท

.

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเร็ว และการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ โดบเน้นมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

(1) การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนมาตรการเดิมให้ตอบสนองภาคเศรษฐกิจและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

(2) พิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน

(3) การพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง

(4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

(5) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่าย

(6) การเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการ สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ทันทีที่มีการกระจายวัคซีนทั้งในและต่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยควรพิจารณาจัดสรรและกระจายวัคซีนให้แก่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนำร่อง ควบคู่กับการพิจารณาเตรียมความพร้อมของพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านระบบรองรับการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การปรับปรุงที่พักและแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเตรียมระบบสนับสนุนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการเดินทาง และการปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19