“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”คาดเดือนก.ค.ธุรกิจจะทยอยปิดตัวมากขึ้น

782
0
Share:

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โจทย์ของรัฐบาลหลังจากออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 1 ไตรมาส จนทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยความสมดุล และดูตามความเป็นจริงว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกและไทยไม่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต้องทำอย่างมีเหตุผล และระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่
.
โดยการคาดการณ์ว่า ในเดือน ก.ค. 2563 หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จะเริ่มมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลงมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่เกิด การส่งออกยังไม่ฟื้น โรงงานยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา
.
ดังนั้นช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค. รัฐบาลจึงได้วางแผนให้ส่วนราชการเร่งเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินดังกล่าวพิจารณาโครงการที่มีความเหมาะสม โดยภายในเดือน มิ.ย. 2563 คาดว่าจะเสนอโครงการต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ตามแผน
.
โดยหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่แค่การเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังต้องคิดล่วงหน้าด้วยว่า หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจะทำอะไรต่อ จึงเป็นที่มาของมาตรการเยียวยาโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งยอมรับว่าทำไปด้วยความยากลำบาก เพราะไทยไม่พร้อมเรื่องข้อมูล ทำให้ในช่วงแรกมีเสียงโจมตี วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งก็ได้หารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบอกว่าต้องอดทน เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤติ คลังคือหลักที่จะยึดเหนี่ยว ดังนั้นถ้าคลังอ่อนแอ ประเทศจะไม่มีเหลือเลย เราได้ประสบการณ์นี้จากสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง
.
ดังนั้นต้องรับฟังคำวิจารณ์และทำทุกอย่างให้ดีขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะต้องรับสิ่งเหล่านั้น
.
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางที่เตรียมไว้เพื่อรองรับคนตกงานที่เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อให้มีงานทำ ให้มีรายได้แม้จะไม่เท่าเดิม แต่ก็ยังมีรายได้เพียงพอจุนเจือครอบครัว สร้างอนาคตให้กับคนไทยให้มีทางเลือกในการสร้างชีวิต แทนที่จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นแรงงาน มาเป็นคนจนในเมือง
.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ช่วงที่ตนเข้ามาเป็น รัฐมนตรี ก็ไม่นึกว่าจะต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ จนกลายมาเป็นรัฐมนตรีคลังในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการกู้เงินมากที่สุด เพราะเรื่องสำคัญในขณะนั้นคือ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนให้เร็วที่สุด เพราะเศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรง เฉียบพลัน โดยเงินกู้ส่วนหนึ่งก็มาให้ ธ.ก.ส. จำนวน 5.55 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจไทยสร้างชาติ ยอมรับว่ารัฐบาลอยากช่วยมากกว่านี้ แต่ในเวลาที่มีจำกัด ทรัพยากรที่มีจำกัด รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหากช้าเกินไป จะพลาดจังหวะ พลาดโอกาส และจะกลายเป็นปัญหาที่ลึกและฟื้นตัวยาก