สะบัดอิทธิพล-ลดพึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐมีสัญญาณชัดในเศรษฐกิจโลก แต่ยังอีกยาวไกลมากในอนาคต

241
0
Share:
สะบัดอิทธิพล-ลดพึ่ง เงิน ดอลลาร์สหรัฐ มีสัญญาณชัดในเศรษฐกิจโลก แต่ยังอีกยาวไกลมากในอนาคต

มีรา แชนแดน และอ็อคทาเวีย โพเพสคิว เป็น 2 นักกลยุทธ์การลงทุน ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า มีสัญญาณของการลดการใช้ หรือพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงทรงอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจโลกอีกยาวนานก็ตาม

สาเหตุที่เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวเป็นผลมาจากผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด จนส่งผลอยู่ในอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 15 ปี และการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับประเทศรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ระบบการเงินและการลงทุนของรัสเซียถูกตัดขาดออกจากระบบการเงินสากล

นักกลยุทธ์การลงทุน ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่ากลุ่มประเทศในข้อตกลงเศรษฐกิจชาติยักษ์ใหญ่เรียกว่า บีอาร์ไอซี หรือบริค ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ร่วมด้วยแอฟริกาใต้ ล้วนท้าทายภาวะลดการพึ่งพา หรือการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ขณะนี้ ส่วนแบ่งสกุลเงินยักษ์ใหญ่ของโลกในธุรกรรมการค้าอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก พบว่า ดอลลาร์สหรัฐมีส่วนแบ่งลดลงมาอยู่ที่ 88% จากสถิติที่เคยมีส่วนแบ่งมากเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับส่วนแบ่งสกุลเงินยูโรลดลง 8% ในช่วง 10 ปีผ่านมา มามีส่วนแบ่งเหลือเพียง 31% ซึ่งทำสถิติส่วนแบ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ส่วนแบ่งของเงินหยวนจีนกลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเงินหยวนจีนในตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ

ในด้านตลาดส่งออกทั่วโลก พบว่า ส่วนแบ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงมาแตะระดับ 9% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในทางตรงกันข้ามส่วนแบ่งสกุลเงินหยวนจีนกลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13% ทำสถิติมากสุดเป็นประวัติการณ์

ในแง่ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกพบสัญญาณในทางทิศทางเดียวกันว่า ส่วนแบ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดต่ำลงเหลือ 58% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นส่วนแบ่งเงินดอลลาร์สหรัฐที่มากที่สุดของโลก เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยการซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้นเพื่อเก็บในทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้ซื้อเก็บสกุลเงินอื่นๆ เข้ามาทดแทนในมูลค่าเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของสกุลเงินหยวนจีนในการเป็นสกุลเงินสากลนั้น ยังคงมีข้อจำกัดมากมาย และไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากตามที่คาดการณ์กันว่าเงินหยวนจีนจะมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้น สาเหตุจากเงินหยวนจีนยังคงเป็นสกุลเงิน หรือเงินทุนที่ถูกควบคุม หรือ Capital Control โดยรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งนี้ ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เปิดเผยว่า ธุรกรรมเงินหยวนจีนในระบบข้อมูลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT มีสัดส่วนน้อยมากเพียง 2.3% ซึ่งแตกต่างอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบดับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโรที่มีสัดส่วนมากถึง 43% และ 32% ตามลำดับ