สายการบินนกแอร์ อำลาสนามบินโคราชเที่ยวบินสุดท้าย มีผู้โดยสาร 10 คน

464
0
Share:
สายการบิน นกแอร์ อำลา สนามบินโคราช เที่ยวบินสุดท้าย มีผู้โดยสาร 10 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันสุดท้ายการทดลองบิน เส้นทาง นครราชสีมา-เชียงใหม่ ของสายการบิน “นกแอร์” ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยให้บริการ 2 เที่ยวบินทั้งไปและกลับต่อสัปดาห์ พบผู้โดยสารจำนวน 10 ที่นั่ง ทยอยเดินทางมาผ่านขั้นตอนเช็คอินเที่ยวบิน DD 9331 กำหนดออกเวลา 07.00 น. วันที่ 27 กันยายน ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของเดือนกันยายนนี้ และไม่เปิดสำรองที่นั่งหรือปรากฏตารางเที่ยวบินในเดือนตุลาคมแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนร่วมประชุมหารือกับนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน “นกแอร์” ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาชี้แจงและคอยตอบข้อซักถาม ซึ่งเป็นประเด็นหารือหลัง “นกแอร์” ได้ทดลองบินเที่ยวปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ใช้เครื่องบินโดยสารแบบ คิว 400 เน็กซ์เจน จำนวนผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง แต่ “นกแอร์” ประสบปัญหาผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บางเที่ยวมีผู้โดยสาร 9 คน ทำให้ขาดทุน จึงจำเป็นต้องหยุดบิน แต่ “นกแอร์” อ้างช่วงเดือนตุลาคม ต้องซ่อมบำรุงเครื่องบินตามอายุการใช้งาน ทำให้เครื่องบินไม่พอเพียง จึงต้องขอหยุดให้บริการชั่วคราว นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา ได้เสนอทางออกร่วมกันแต่ไม่มีข้อยุติ โดยจะเรียกประชุมอีกครั้ง ก่อนที่ ผวจ.นครราชสีมา เกษียณอายุราชการ ผู้บริหาร “นกแอร์” รับข้อเสนอพร้อมพูดคุยทั้ง ผู้ว่าฯเก่าและนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯคนใหม่ เพื่อสานต่อให้บรรลุผล

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่ จ.นครราชสีมา เชิญชวนมากกว่าผู้โดยสารที่ไปเอง ข้อเสนออยากให้ “นกแอร์” ที่มีประสบการณ์การตลาดพิจารณาเรื่องราคาตั๋วและการจัดเที่ยวบินโดยหยุดพักที่โคราชก่อนบินไปปลายทาง เช่น เชียงใหม่-กรุงเทพฯ-โคราช, โคราช-กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โคราช-กรุงเทพ-หวดใหญ่ อาจตอบโจทย์การใช้บริการระหว่างเที่ยวบินสู่ภูมิภาคได้ตรงตามเป้าหมาย

สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือสนามบินหนองเต็ง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,625 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 226 ถ.เพชรมาตุคลา ประมาณ 26 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนการใช้สนามบินของกองบิน 1 นครราชสีมา เนื่องจากต้องใช้เพื่อภารกิจความมั่นคง

โดยที่ผ่านมามีสายการบินต่างๆ เปิดเส้นทางการบินภายในประเทศและมีแนวคิดขยายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การบินไทย, แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย, แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์, ไทยรีเจียนอลแอร์ไลน์, กานต์แอร์ และนิวเจน แอร์เวย์ส แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องหยุดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์นานร่วม 4 ปี จนกระทั่งวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย “นกแอร์” ได้ทดลองเปิดเที่ยวบิน นครราชสีมา-เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และ “นกแอร์” เป็นสายการบินที่ 10 ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ