ส่งออกปีหน้ายังไม่ฟื้นเอกชนคาดโตเพียง 0 – 1%

820
0
Share:

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยถึง สถานการณ์การส่งออกประจำเดือนก.ย. 2562 ว่า การส่งออกมีมูลค่าประมาณ 20,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.2% ส่งผลให้ เดือนก.ย.ไทยเกินดุลการค้า 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
.
โดยภาพรวมช่วง 9 เดือนปีนี้ ไทยส่งออกรวมมูลค่าประมาณ 186,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 179,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3.7%
.
ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2562 จะติดลบ 1.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และประเมินการส่งออกปี’ 2563 เติบโต 0-1%
.
สำหรับปัจจัยบวกที่จะช่วยพยุงการส่งออกคือ 1. การหาพันธมิตรการค้าใหม่ ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาร์เซ็บ ในวาระที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
.
2. เหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกง ทำให้นักลงทุนฮ่องและไต้หวันเริ่มหาพื้นที่กระจายความเสี่ยงมายังไทยเพิ่มขึ้น
.
3. สถานการณ์ Brexit ที่มีแนวโน้มที่ชัดเจนจากการที่สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศเห็นพ้องกันในการขยายกำหนด Brexit เป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากเดิมในวันที่ 31 ต.ค.2562 ทำให้ผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาเพิ่มในการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวต่อไป
.
ส่วนความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากการตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ จีน และขยายออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและการค้าโลกถดถอยอย่างรุนแรง
.
2) สหรัฐตัดสิทธิ์ GSP ไทย ซึ่งครอบคลุมสินค้า 573 รายการ โดยสินค้าที่โดนตัดสิทธิ GSP มูลค่า 1,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 4.1% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย
.
3. สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ยังคงต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศการเจรจา Trade war deal phase 1 “concrete progress” ดูเหมือนจะผ่านไปได้ดี แต่เป็นความตกลงการค้าในบางประเด็นเพื่อระงับการเก็บภาษีชั่วคราว ภายใต้วงเงินการจัดเก็บภาษีกลุ่ม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 25% เป็น 30% และการขึ้นภาษีกลุ่ม 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รอบที่ 2 อีก 554 รายการ เท่านั้น
.
4. ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการเกินดุลสะพัดของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ