ส่งออกพ.ย.หดตัวร้อยละ 7.4

786
0
Share:

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
.
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 13.8 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.8 และการนำเข้ามีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.2 และการค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
โดยการส่งออกเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวร้อยละ 7.4 สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลกหดตัว รวมทั้งไทยด้วย แต่การส่งออกของไทยยังคงรักษาระดับมูลค่าส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์
.
นอกจากนี้มีปัจจัยชั่วคราวในสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องที่การส่งออกลดลงอย่างมาก สาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในประเทศเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 11 ได้ลดลงกว่าร้อยละ27 แต่ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม
.
ส่วนแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 การค้าระหว่างประเทศของไทยและการส่งออกของไทยมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า แต่สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลาย และมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทำให้ปีนี้คาดส่งออกหดตัวร้อยละ 2 เป็นมูลค่า 2.47 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2563 คาดส่งออกยังขยายตัวได้ โดยช่วงต้นปี 2563 เมื่อการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำมันทั้งหมดกลับมาสู่สภาวะปกติ น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในไตรมาสแรก
.
ส่วนข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้นว่า สงครามการค้าจะไม่ลุกลามถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวนระหว่างกัน เช่นเดียวกันกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ที่มีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ –จีนในระยะที่ 2 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่มีรายละเอียดปรากฎแน่ชัด และยังมีประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ จะยังกดดันแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะสั้น –กลาง