ส่งออกไทยลุย! มาเลเซียปิดเมืองแต่ต้องการวัตถุดิบ-สินค้าไทย คาดโต 12% ปีนี้

505
0
Share:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปมาเลเซียในปี 2564 ไม่น่าจะกระทบมากนัก เนื่องจากสินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการของมาเลเซีย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการผลิตที่จำเป็นในช่วงประกาศปิดประเทศมาเลเซียอย่างเต็มรูปแบบ และสินค้ากลุ่มอาหาร สำหรับ 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกไทยไปมาเลเซียเติบโตถึง 47.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งในบรรดาตลาดส่งออกของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มาเลเซียเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของไทย รองจากเวียดนาม
.
ตลาดมาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้จากการส่งออกด้วยสัดส่วน 4.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ปัจจุบันประเทศมาเลเซียพึ่งพาการนำเข้าสินค้าไทย 4.3% ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้าหลายรายการพึ่งพาไทยในสัดส่วนที่สูง เช่น ยางพารามาเลเซียนำเข้าจากไทยถึง 51% ของการนำเข้ายางพาราทั้งหมด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยางที่มาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก สำหรับสินค้าอื่นๆ ได้แก่ ยางล้อรถยนต์ (32% ของการนำเข้ายางล้อรถยนต์) ถุงมือทางการแพทย์ (45% ของการนำเข้าถุงมือฯ) อุปกรณ์ตู้เย็น (29% ของการนำเข้าอุปกรณ์ตู้เย็น) ไก่แปรรูป (63% ของการนำเข้าไก่แช่เย็น) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปมาเลเซียในปี 2564 จะเติบโตที่ใกล้เคียง 12% มีมูลค่าส่งออกราว 12,755 ล้านดอลลาร์ฯ
.
หากการปิดเมืองของมาเลเซียในครั้งนี้ สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจนต้องขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไป จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจมาเลเซียอ่อนแรงลง กระทบความต้องการสินค้าหลักในระยะสั้นอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์
ด้านแนวโน้มสถานการณ์ชายแดนไทยกับมาเลเซียยังคงฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดเติบโตในอัตรา 2 หลัก ซึ่งการค้าชายแดนมาเลเซียมีบทบาทสำคัญคิดเป็น 45% ของการส่งออกของไทยไปมาเลเซียทั้งหมด การเติบโตของช่องทางนี้จึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการส่งออกในภาพรวมด้วย
.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนไทยไปมาเลเซียปีนี้จะเติบโตที่ไม่ต่ำกว่า 20% แตะมูลค่าราว 151,000 ล้านบาท แม้การล็อกดาวน์ในครั้งนี้อาจกระทบกำลังซื้อในภาพรวมชะลอลง แต่ไม่ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดน รถขนส่งสามารถขนสินค้าได้ปกติ อีกทั้งสินค้าที่ส่งผ่านช่องทางนี้หลายรายการเป็นสินค้าสำคัญต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่ เช่น ยางพาราและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทั้งสองสินค้าใช้ช่องทางส่งผ่านชายแดนถึงกว่า 80% ของการส่งออกสินค้าดังกล่าว ทำให้ในปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนไทยหดตัวเพียง 2% อีกทั้งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ก็กลับมาขยายตัวถึง 72.2%
.
ทั้งนี้ มาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศเต็มรูปแบบระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1-14 มิ.ย.2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หวนกลับมารุนแรงอีกครั้ง มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 7,000 คนต่อวัน มาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมาเลเซียกลับมาหยุดชะงัก ยิ่งทำให้การบริโภคของมาเลเซียที่มีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP ฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีก โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจมาเลเซียหดตัว 5.6% ซึ่งความหวังของเศรษฐกิจมาเลเซียในช่วงที่เหลือของปี คงต้องรอติดตามผลการกระจายวัคซีนที่ปัจจุบันมียอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกของมาเลเซียอยู่ที่ 9% จากจำนวนประชากร 32 ล้านคน