ส.การค้าปุ๋ยฯ ชี้ไทยเจอปุ๋ยขาดตลาดช่วงเม.ย.ถึงพ.ค. บีบคอผู้ขายนาน ทำขาดทุนอยู่ไม่ได้

408
0
Share:

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า หากจะสั่งซื้อนำเข้าปุ๋ยรอบใหม่มา อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-4 เดือน เพราะขณะนี้แหล่งผลิตใหญ่ๆที่ไทยนำเข้าเป็นประจำมีปัญหา เช่น รัสเซีย จีน ทำให้ต้องไปแข่งซื้อกับประเทศอื่น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการขนส่ง การขออนุญาต การตรวจสอบคุณภาพจากภาครัฐอีก ก่อนนำมาผสมวางขาย ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เวลาพอสมควร

นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยเปิดเผยว่า สมาคมเป็นห่วงว่าในฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ไทยจะขาดแคลนปุ๋ยเคมีสำหรับเพาะปลูก เพราะขณะนี้สต๊อกปุ๋ยเคมีบางชนิดลดลง และอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผู้ค้าปุ๋ยเคมีบางรายได้ชะลอนำเข้า เพราะขาดทุน จากราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาในประเทศ รัฐบาลกลับให้ตรึงขายไว้

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงพาณิชย์จะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาและกระตุ้นให้เร่งรัดนำเข้า เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะแข่งขันสั่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีได้ทันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาราคาแพงขึ้นอยู่แล้ว และเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยแพงขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีน สั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็เก็บสต๊อกไว้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารในประเทศ

สำหรับการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศ หลังจากต้นทุนปรับตัวขึ้นสูงมากนั้น ขณะนี้แต่ละบริษัทได้ทยอยแจ้งต้นทุนให้กรมการค้าภายในพิจารณาไปแล้ว โดยปัจจุบัน ราคาแม่ปุ๋ยเคมีในตลาดโลก โดยเฉพาะสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มาก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่ ยูเรีย 46-0-0 อยู่ที่ตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ จากปี 64 ที่ตันละ 360 เหรียญสหรัฐฯ, แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 ตันละ 400 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากตันละ 180 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 122%, ฟอสเฟต 18-46-0 ตันละ 1,164 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากตันละ 570 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่ม 104% และโพแทสเซียม 0-0-60 ตันละ 750 เหรียญสหรัฐฯ จากตันละ 256 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่ม 193%

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวต่อไปว่า แต่ละปี ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี 5 ล้านตัน โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุด 1.09 ล้านตัน ตามด้วย ซาอุดีอาระเบีย 720,000 ตัน รัสเซีย-เบลารุส 710,000 ตัน โอมาน 367,000 ตัน เกาหลี 332,000 ตัน และแคนาดา 327,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมไม่ได้ขออะไรมาก เพียงแต่อยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาการปรับขึ้นราคาให้สะท้อนกับสภาพกับความเป็นจริง เพราะผู้ผลิตก็ขาดทุนเยอะแล้ว