ส.อ.ท.จับมือภาคเอกชนลดเวลา credit term จาก 60-120 วัน เหลือ 30 วัน

878
0
Share:

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ออกมาตรการเร่งอัดฉีดสภาพคล่อง SMEs ผ่านโครงการ F.T.I. Faster PAYMENT ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า (credit term)โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้
.
โครงการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอี รวมถึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำอำนาจการต่อรองระหว่างเอสเอ็มอีและบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 100 บริษัทเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยทั้งกลุ่มนี้ปัจจุบันมียอดขายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท และคาดว่าการลดเวลาการชำระค่าสินค้าดังกล่าวจะส่งผลประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
.
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 96% ซื้อขายกันด้วยวงเงินสินเชื่อมากกว่าการชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19ได้
.
บริษัทที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาคเอกชนจะดำเนินการด้วยกันเองแล้ว ภาครัฐก็จะมีส่วนสำคัญเช่นกัน ดังนั้นอยากเสนอให้ภาครัฐจ่ายค่าสินค้าและบริการให้กับภาคเอกชนเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐจะจ่ายค่าสินค้าไม่ต่ำกว่า 90 วัน
.
ดังนั้นจึงอยากจะให้ภาครัฐจ่ายภายใน 30 วันเช่นกัน เพื่อมาช่วยเอสเอ็มอี และเรื่องนี้ควรจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากบริษัทไหนมีการจ่ายล่าช้า
.
นายสุพันธุ์ กล่าวถึงโครงการคนละครึ่ง ที่ภาครัฐออกมามา มองว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้บ้าง แต่จะต้องเพิ่มจำนวนร้านค้ารายย่อยให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการจับจ่าย ซึ่งปัจจุบันนั้นมีรายย่อยลงทะเบียน 170,000 ร้านค้าเท่านั้น