หนี้บานงานไม่มี! สภาพัฒน์ชี้คนไทยว่างงานพุ่งกว่า 7 แสนคน สูงใน 12 ปี หนี้ครอบครัวทะลุ 14 ล้าน

445
0
Share:

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ อัตราคนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเป็น 760,000 คน หรือ 1.96% ไม่เพียงกลับมามีจำนวนคนว่างงานพุ่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสก่อนหน้านั้น แต่ยังทำสถิติว่างงานสูงสุดในรอบ 12 ปีด้วย สาเหตุจากผลกระทบที่รุนแรง และวงกว้างอย่างต่อเนื่องของภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่ 3 รวมถึงเป็นผลกระทบสะสมตั้งแต่รอบที่ 1 ในปี 2563 เป็นต้นมา

สำหรับอัตราการว่างงานของแรงงานในระบบนั้น พบว่า กรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 346,000 คน หรือ 3.1% ทำสถิติพุ่งสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในช่วงเวลานั้นการระบาดยังไม่รุนแรง แต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง นอกจากนี้กรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 80,000 คนในเดือนมีนาคม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

.

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผู้ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น นักศึกษาจบใหม่ได้รับผลกระทบกับการหางานในปี 2564 ประมาณ 490,000 คน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณอีก 140,000 ตำแหน่ง จากสถานการณ์ตรงนี้ ส่งผลให้เเรงงานทีรายได้ลดต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เสี่ยงตกงานยาว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกัน

.

ด้านหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา มีมูลค่าพุ่งสูงทะลุ 14.02 ล้านล้านบาท ซึ่งขยาย 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว
เเม้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วนกนี้เสียของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน

.

สภาพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น จะทำให้รายได้ของแรงงานลดลง และทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น จึงคาดว่าแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19

ด้านความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดสภาพคล่องรวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม

.

นอกจากนี้ ภาวะการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือตอนนี้ประชาชนเริ่มนำเงินออมออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย มาไว้รองรับในระยะถัดไป