“หมอธีระวัฒน์” ย้ำ! ฉีดวัคซีนชั้นผิวหนังปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย กำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

486
0
Share:

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าชั้นผิวหนัง ว่า การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังมีการดำเนินการมานานแล้วในวัคซีนชนิดอื่นๆ ล่าสุดวัคซีนโควิดในต่างประเทศมีการศึกษาและดำเนินการเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทย นักวิชาการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหน่วยงานภายใต้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงเรียนแพทย์ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง และผ่านคณะกรรมการวิจัยทั้งหมด ล่าสุดสถานเสาวภา สภากาชาดไทยเตรียมจะทดลองการฉีดใต้ชั้นผิวหนังในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน
.
นักวิชาการ แพทย์ต่างๆ เห็นความสำคัญได้มีการศึกษาวิจัย อย่างจุฬาฯ ทำการศึกษาและฉีดในอาสาสมัครที่สมัครใจฉีดเข้าชั้นผิวหนังไปแล้วกว่า 200-300 คน ซึ่งไม่พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงใดๆ หากมีเจ็บบริเวณฉีด หรือมีรอยจ้ำ ถือเป็นผลข้างเคียงที่ไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับความปลอดภัย และสามารถฉีดได้ในปริมาณมากกว่าเดิม ย่อมมีประโยชน์กว่า
.
โดยการฉีดใต้ผิวหนังปริมาณวัคซีนน้อยกว่า แต่กระตุ้นภูมิฯได้สูงและกลไกในการกระตุ้นภูมิเป็นคนละกลไกกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงเลี่ยงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ในต่างประเทศไม่มีการฉีดวัคซีนเชื้อตายเข้าชั้นผิวหนัง เนื่องจากมีจำนวนวัคซีนเหลือเฟือ จึงไม่จำเป็นต้องฉีดด้วยวิธีนี้ แต่ไทยมีข้อจำกัด ว่ามีวัคซีนเพียงพอจริงหรือไม่ เพราะยังต้องฉีดกระตุ้นกัน และเรื่องความปลอดภัยในเด็กอย่างไฟเซอร์ กำหนดให้อายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะยังมีเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แม้ผลข้างเคียงดังกล่าวจะพบไม่มากและเด็กไม่เสียชีวิต แต่ระยะยาวก็ยังไม่รู้ว่ามีผลอย่างไร
.
ทั้งนี้ในต่างประเทศมีข้อมูลว่า ควรฉีดวัคซีนให้เด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไป เพราะจะมีผลกระทบระยะกลางและระยะยาว หลังติดเชื้อแล้วอาจทำให้พัฒนาการช้า หากวัคซีนมีเพียงพอในการฉีดกระตุ้นต่อจากนี้ และมองว่าวิธีนี้ไม่จำเป็น ก็สุดแล้วแต่ทางผู้กำหนดนโยบาย แต่ทางการแพทย์ยังคงมีการศึกษาเรื่องนี้ต่อเนื่องต่อไป