หอการค้าไทยเผยดัชนีค่าครองชีพม.ค. 64 อยู่ที่ 15.8 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี

597
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ม.ค. 64 อยู่ที่ 47.8 จาก 50.1 ในเดือนธ.ค.63 โดยดัชนีฯ ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่พ.ค.63 จากความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ในประเทศที่มีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว และการว่างงานในอนาคต
.
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 32.4 จากระดับ 34.5 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันมาอยู่ที่ระดับ 55.1 จากระดับ 57.4 อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติคือ 100 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
.
ทั้งนี้ดัชนีโอกาสหางานทำเดือนม.ค.64 อยู่ที่ 45.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเดือนม.ค.64 อยู่ที่ 56.8 ด้านดัชนีค่าครองชีพม.ค. 64 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 15.8 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 41.6
.
สำหรับปัจจัยลบมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว , สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์อยู่ที่ 4.5% ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นแตะ 30.006 บาท ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง
.
ส่วนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ปัจจุบันยังคงเป้าหมายมุมมองปีนี้โต 2.8% แต่หากมี 3 โครงการจากภาครัฐ ทั้งเราชนะ คนละครึ่ง และเรารักกัน ซึ่งจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีโอกาสทำให้ภาพรวมจีดีพีปีนี้โตแตะ 3.4% ได้ เนื่องจากทั้ง 3 โครงการมีมูลค่าเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มธุรกิจการค้าที่ได้รับประโยชน์มากสุดได้แก่ ค้าส่ง-ค้าปลีก ที่พัก-ร้านอาหาร และการผลิตอุตสาหกรรม
.
แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจก็ยังมีความเสี่ยงจากเรื่องการเมือง ค่าเงินบาท หรือปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ หรือผลของวัคซีนอยู่ เราจึงยังไม่มีเหตุผลปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ