อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอเวลา 8-12 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

693
0
Share:
ปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์หลังการเดินทางเข้ารายงานสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่านายกฯ กำชับให้ควบคุมโรคให้เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด และจะต้องมีการฟื้นฟูเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง และเรื่องคือการพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรค สุดท้ายเรื่องแนวทาง ทำอย่างไรในการสำรวจสุกรว่าหายไปในระบบถึง 50-60 % จริงหรือไม่

นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการ ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องหารือกับกรมการค้าภายในเพื่อตรึงราคา รวมถึงสินค้ารายการอื่นด้วย

และนายกฯ ให้ช่วยเน้นย้ำเรื่องการควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเดินหน้าต่อไปได้ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยไม่ได้ขีดเส้นตายในการจัดการ แต่คาดว่าจะใช้เวลา 8-12 เดือน ทั้งนี้โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้น 34 ประเทศ ส่วนเอเชียมี 14 ประเทศ รอบ ๆ ไทยเป็นกันหมด

ทางด้านนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ เผยว่าท่านนายกฯ สั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฟื้นฟู โดยให้สำรวจปริมาณความเสียหายก่อน ต้องมีข้อมูลชัดเจน โดยให้กระทรวงมหาดไทยช่วย ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนต้องเข้าใจว่าหมูแพงไม่ได้เกิดจากโรคอย่างเดียว ยังมีปัจจัยจากพันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์ “ตั้งแต่ผมรับราชการมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐช่วยเหลือหมู เมื่อก่อนไม่เคยมี ในการให้งบประมาณตั้งแต่ต้น รวมแล้ว 1,500 กว่าล้านบาท ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค โดยเงินช่วยเหลือให้รายย่อยเท่านั้น ส่วนรายกลาง รายใหญ่ เราไม่มีให้”

ด้านนายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อกรมปศุสัตว์ประกาศเป็นโรคระบาดอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่ต้องดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอและติดตามการทำงาน และแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องควบคุมการระบาด และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้กลับมาโดยเร็ว โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก แต่จะไม่ให้เดือดร้อนผู้เลี้ยง และผู้บริโภคให้มากที่สุด ส่วนสถานการณ์ราคาปัจจุบันมีหลายปัจจัย ภาครัฐคงแก้ปัญหาเต็มที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ขอย้ำว่า หากเป็นโรคระบาด AFS จริง ไม่ก่อโรคในคน ไม่ก่อโรคในสัตว์ชนิดอื่น เนื้อหมูยังบริโภคได้ตามปกติ แต่เน้นเกินสุก ถูกอนามัย อย่าตระหนก อย่าตกใจ