อนามัยโลกเผยอาเซียนติดโควิด-19 กว่า 400% มากที่สุดในโลก

441
0
Share:
อนามัยโลก

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส แถลงว่า ในสัปดาห์แรกของปี 2565 ช่วงวันที่ 3-9 มกราคม 65 ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรืออาเซียน สร้างสถิติอัตราการติดโรคระบาดโควิด-19 มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก โดยมีอัตราการติดเชื้อพุ่งทะยานถึง 418% ตามด้วยแปซิฟิกตะวันตกติดเชื้อพุ่ง 122% อันดับ 3 ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกเพิ่มขึ้น 86% ภูมิภาคอเมริกาเพิ่มขึ้น 78% และอันดับสุดท้ายได้แก่ยุโรปติดเชื้อเพิ่มขึ้น 31%

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน ปรากฎว่า ภูมิภาคแอฟริกันพุ่งทะยาน 84% ภูมิภาคอเมริกาเพิ่มขึ้น 26% อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตรายสัปดาห์กลับลดลงในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก 11% ยุโรปลดลง 10% และในอาเซียนลดลง 6%

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อมองในภาพรวมของสัปดาห์แรกในปี 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก พุ่งทะยานมากถึง 15 ล้านคน ทำสถิติยอดติดโรคระบาดโควิด-19 รายสัปดาห์มากเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของโลก หรือพุ่งทะยานขึ้นถึง 55% ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ทั่วโลกมีมากกว่า 43,000 ราย

ผู้อำนวยการ WHO กล่าวต่อไปว่า ในแง่จำนวนผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 รายสัปดาห์แยกตามรายประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจ จะพบว่าในช่วงวันที่ 3-9 มกราคม 2565 ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 พุ่งทะยานถึง 4.6 ล้านราย ทำสถิติประเทศที่ติดเชื้อมากที่สุดในโลกของสัปดาห์แรกในปี 2565 ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อพุ่งก้าวกระโดดถึง 73% เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ที่สำคัญ เป็นอัตราการติดเชื้อเทียบรายสัปดาห์ที่พุ่งสูงกว่าอัตราติดเชื้อรายสัปดาห์ของโลกที่ระดับ 55%

แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์โฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิค องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ และอัตราการติดเชื้อรายสัปดาห์ทั่วโลกดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่าจะสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุข ถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ยังคงทำให้ประชาชนที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ยังคงทำให้มีอาการป่วยรุนแรงถึงระดับไอซียู และต้องการรักษาล่วงหน้า ที่สำคัญสายพันธุ์โอไมครอนยังคงคร่าชีวิตผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลก กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในแง่อัตราการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในข่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังคงทรงตัว และไม่เพิ่มสูงมากนักตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่สิ่งสำคัญ คืออัตราการเสียชีวิตยังคงมีอยู่สูง ด้วยอัตราเฉลี่ยเสียชีวิตทั่วโลกสัปดาห์ละ 48,000 ราย