อสังหาเดี้ยง! ราคาอสังหาริมทรัพย์ไทยฟุบหนักใน 4 ปี คนไทยกังวลหนัก ใช้เวลานานเป็นปีเลือกซื้อบ้าน

1184
0
Share:

นานกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก และให้บริการซื้อขายในอาเซียน เปิดเผยว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในไทยอยู่ในภาวะซบเซา และตกต่ำหลายด้าน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 ในไทยรวมถึงในภูมิภาคอาเซียน

เริ่มจากมุมมองด้านราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยพบว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ ดัชนีราคาปรับตัวลงอีกอยู่ที่ 190 จุด ทำสถิติราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส หรือเกือบ 4 ปี แนวโน้มราคาเป็นขาลงมาตั้งแต่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ดัชนีราคาดังกล่าวปรับขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว เมื่อการระบาดในรอบแรกคลี่คลายลง ก่อนจะกลับตกลงอีกครั้ง
เมื่อแยกประเภทอสังหาริมทรัพย์ พบว่ากลุ่มที่ราคาตกมากที่สุดคือคอนโดมิเนียม ราคาลดลง -8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว และ -3% เมื่อเทียบระหว่างไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่กลุ่มแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ราคาค่อนข้างทรงตัว

สำหรับความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย พบว่า เมื่อวัดจากการคลิกเข้าชมรายการนั้นๆ ในแพลทฟอร์มของดีดี ซึ่งไม่ได้สื่อถึงการตัดสินใจซื้อจริง พบว่าในเดือนพฤษภาคม 2564 มีความสนใจสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้านั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อเริ่มกลับมาสนใจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะยังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มราคาที่สนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น ได้แก่
• น้อยกว่า 1 ล้านบาท (+20%)
• มากกว่า 10 ล้านบาท (+18%)
• 5-10 ล้านบาท (+16%)
• 1-3 ล้านบาท (+12%)
• 3-5 ล้านบาท (+10%)

ส่วนในกลุ่มราคาที่สนใจเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่
• ค่าเช่า 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน (+33%)
• ค่าเช่ามากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน (+19%)
• ค่าเช่า 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน (+7%)
• ค่าเช่าน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (+5%)

ด้านการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยรวมนั้น ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ระบุว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มตัดสินใจซื้อช้าลง จากเดิมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีความต้องการซื้อบ้าน ศึกษาโครงการต่างๆ จนถึงตัดสินใจซื้อ มักจะใช้เวลาราว 8 เดือน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ปี สาเหตุจากผู้ซื้อไม่มั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจ และฐานะการเงินของตนว่าจะมั่นคงพอหรือไม่