‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ยันไม่กังวลเรื่องการเมือง ยึดงานเป็นหลัก

838
0
Share:

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ว่า “ผมทำงานครับ เรายึดงานเป็นหลัก ถามว่ากังวลเรื่องการเมืองแทรกแซงหรือไม่ ไม่เป็นไร ยึดงานเป็นหลัก เมื่อถามว่าทำงานกับใครก็ได้ใช่หรือไม่ ตอบว่า ยึดงานเป็นหลักครับ”
.
มาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. คอยดูแลอยู่แล้ว แต่คิดว่าคงเป็นไปตามนโยบายพล.องประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
.
1. เรื่องระยะเร่งด่วน ขณะนี้เศรษฐกิจไตรมาส 1-2 ติดลบ เป็นกันทั่วโลก เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นเร่งด่วนคือ ธุรกิจทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเศรษฐกิจของภาคเอกชน และภาคประชาชน คิดเป็น 70% ของจีดีพี อีก 20% เป็นส่วนของรัฐ แน่นอนที่สุดว่ารัฐเองก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วย
.
2. ผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งต่อเนื่องมาจากในช่วงที่เราคุมเข้มเรื่องโควิด คนไม่ได้ออกไปทานข้าวที่ไหน ส่วนช่วงที่รัฐผ่อนคลายมาตรการนั้น อัตราการบริโภคของเรายังต่ำอยู่ ดังนั้นต้องมีมาตรการด้าน ศบศ. ออกมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เรื่องการจ่ายเงิน 5,000 บาท เป็นการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังซื้อ ซึ่งรัฐต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ อย่าลืมว่าในเรื่องการบริโภคของไทยคิดเป็น 50% ของจีดีพี เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ต้องพึ่งพาเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก
.
3. เรื่องช่วยสาขาที่ได้รับผลกระทบ โดยสาขาใหญ่คือ ภาคการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวต้องดูตลอดทั้งวงจรของการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในบางส่วนนั้นมาตรการที่เข้าไปเสริมสภาพคล่องและเข้าไปแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่าง ๆ อาจจะยังไม่ค่อยออกมาดีเท่าไหร่ ก็ต้องเข้าไปช่วย ศบศ. และได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. พลังงาน ว่าในเรื่องการขับเคลื่อนหรือการเร่งรัดแก้ไขข้อติดขัดตรงนี้ จะต้องรีบดำเนินการ
.
4. ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐต้องต่อเนื่อง ก็จะดูเรื่องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และเรื่องล้างท่อ เงินค้างต่าง ๆ เพื่อให้กระแสเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีเพียงพออยู่แล้ว แต่ดูแลให้ทั่วถึง
.
มาตรการที่ ศบศ. ได้ดูแลครบเกือบทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ว่าในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว ที่วันนี้จะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ยังต้องชะลอไปก่อน ซึ่ง ศบศ. มีการประชุมไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการดูเรื่องนี้และมอบหมายให้ทางสภาพัฒน์ และ ธปท. ได้ดูว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร เรื่องซอฟท์โลนก็เป็นเรื่องที่เขาขอเข้ามา
.
ส่วนเศรษฐกิจปีหน้ายังได้รับผลกระทบของโควิดต่อเนื่องอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัว ความมั่นใจจากวัคซีนต้องใช้เวลา 1-2 ปี ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยเดินได้ ตรงนี้คลังก็ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย เรื่องการเตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไร เช่นเรื่องของการท่องเที่ยว มีการศึกษาไว้แล้ว เพียงแต่ระยะเวลาอาจจะไม่เหมาะสมก็ต้องมาดูเรื่องของวิธีการที่จะกระตุ้นส่วนนี้อย่างไร