เดลต้าแรง! หมอธีระชี้โควิด-19 พันธุ์อินเดียทำเสี่ยงนอนโรงพยาบาลถึง 120% เทียบกับพันธุ์อื่นๆ

380
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับผลการศึกษาจากแคนาดาลงในวารสารการแพทย์ชื่อดังระดับโลก MedRxiv ด้านความรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดีย มีดังนี้

หากมีธรรมชาติคล้ายกัน “ระลอกเดลต้า”นี้คงจะไปพีคช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน ในขณะที่เราก็มักจะได้มีระบาดตามกระแสโลกถัดจากนั้นไม่นาน จึงต้องสร้างป้อมปราการของเราให้ดี รวมถึงวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจให้เหมาะสม

ถามกันเยอะเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่ามีสมรรถนะในการแพร่ (ประเมินจากค่า R) ได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าราว 55% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 43-68%)

ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า ทำโดยทีมวิจัยจากแคนาดา เพิ่งเผยแพร่ใน MedRxiv เมื่อวานนี้

โดยทำการศึกษาข้อมูลของผู้ติดเชื้อในออนตาริโอ้ ประเทศแคนาดา จำนวน 211,197 คน ระหว่างกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2021 ในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern: VOC) ได้แก่ อัลฟ่า (สหราชอาณาจักร) เบต้า (แอฟริกาใต้) แกมม่า (บราซิล) และเดลต้า (อินเดีย) เปรียบเทียบกับกลุ่มไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น

ผลการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ที่น่ากังวลเหล่านั้น หากติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 59% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 49-69%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 105% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 82-134%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 61% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40-87%)

ในขณะที่พอเจาะลึกดูสายพันธุ์เดลต้า เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ VOC แล้ว จะพบว่ามีความรุนแรงขึ้นมาก โดยทำให้เสี่ยงต่อการต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 120% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 93-153%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 287% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 198-399%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 137% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 50-230%)

พอเปรียบเทียบระหว่างเดลต้า กับสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวอื่นๆ (อัลฟ่า เบต้า และแกมม่า) พบว่าทำให้เสี่ยงต่อการต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 55% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 45-63%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 101% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 79-124%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 59% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 39-84%)

ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อมูลที่ตอกย้ำให้พวกเราทุกคนต้องพยายามป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เพราะสายพันธุ์เดลต้านี้กำลังระบาดอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่พบในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิง
Fisman DN and Tuite AR. Progressive Increase in Virulence of Novel SARS-CoV-2 Variants in Ontario, Canada. MedRxiv. 12 July 2021.