เปิด 10 ประเภทธุรกิจสุดเด่น-โอกาสดีในปีเสือ 65 รวมทุนจดทะเบียนกว่า 480,000 ล้านบาท

381
0
Share:
ธุรกิจ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปี 2565 จำนวน 10 ประเภท ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.32 ล้านล้านบาท โดยใช้ข้อมูลงบการเงินปี 2563 และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 49,117 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 482,576.70 ล้านบาท

สำหรับ 10 ประเภทธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2565 ดังกล่าว มีดังนี้

1. e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์และแพลตฟอร์มเพื่อการค้าออนไลน์ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าและสถานบริการได้ตามปกติ รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มช่องทางการตลาดค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับปี 2564

2.ธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ ได้แก่ ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) กลุ่มธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce เนื่องจากผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อ-ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีความต้องการบริการด้านขนส่งโลจิสติกส์มากขึ้นตามไปด้วย

3.ธุรกิจเวชภัณฑ์และแปรรูปสมุนไพร กลุ่มธุรกิจนี้มีปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในปี 2565 ทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่อาจต้องพึ่งพากลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ และธุรกิจผลิต และแปรรูปพืชสมุนไพรเพื่อบรรเทาและป้องกันสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว

4.ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจบริหารจัดการ/ประมวลผลข้อมูล ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจหันมาพึ่งพาเทคโนโลยี หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5.ธุรกิจรีไซเคิล (Recycling) กลุ่มธุรกิจนี้ได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการประกอบธุรกิจให้ยั่งยืนด้วย ESG (Environmental, Social, and Governance) และ BCG (Bio, Green, and Circular) model โดยประกอบธุรกิจผ่านการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อีกทั้งยังเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน

6.ธุรกิจเครื่องสำอาง ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งเครื่องสำอางและธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง มีปัจจัยมาจากกระแสการดูแลสุขภาพ การดูแลตนเอง เพื่อเสริมภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง อีกทั้งมีปัจจัยเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ การเป็นตัวแทนขาย มาช่วยสนับสนุนยอดขาย

7.ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันด้านพัฒนาอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น และการทำการตลาดสินค้าราคาแพง (Premium) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า

8.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2560 จากสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มากกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรในประเทศ รวมทั้งสัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

9) ธุรกิจกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากที่พักและตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่งสินค้าให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก สอดคล้องกับธุรกิจ e-Commerce ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น

10.ธุรกิจโฆษณา สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดในพื้นที่สาธารณะได้ ทำให้การทำโฆษณาโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยจากสถิติของสมาคมโฆษณาดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก (Facebook) และยูทูบ (Youtube) ครองสัดส่วนการใช้จ่ายมากที่สุด 2 อันดับแรก รวมกันกว่า 50%