เปิด 4 ข้อ! หมอธีระชี้ติดเชื้อเกินวันละ 10 คนขึ้นในพื้นที่หรือจังหวัดควรล็อกดาวน์ เลิกโปรโมทให้คนไปเที่ยวได้แล้ว

435
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รอบ 3 ในไทย มีข้อความว่า การประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนจัดการรับมือนั้น ต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ยังจำได้สมัยระลอกสองเริ่มใหม่ๆ วงบริหารหนึ่งเคยแซวว่าชอบมาขู่ให้กลัว หลังจากที่ได้รับฟังการนำเสนอ คาดการณ์ว่าจะรุนแรงกว่าระลอกแรก และมียอดการติดเชื้อต่อวันสูงสุดราว 5 เท่า หรือ 940 คนต่อวัน โดยใช้เวลาในการต่อสู้ยาวนาน 2 เท่าหรือ 88 วัน และคาดว่าจะมีคนติดเชื้อจากระลอกสองนี้ระหว่าง 23,635-33,088 คน เวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสิ้นสุดระลอกสองด้วยตัวเลขใกล้เคียงประมาณนั้น

.
ระลอกสามนี้ หากจำกันได้ เคยเตือนแล้วเช่นกันว่าจะเกิดขึ้นได้แน่ เป็นผลต่อเนื่องจากระลอกก่อนหน้า เพราะเห็นจากบทเรียนต่างประเทศมากมายหลายประเทศที่เผชิญมาก่อนเรา
ปัจจัยหลักจะแปรผันตามจำนวนการติดเชื้อต่อวันที่กดได้จากระลอกก่อนหน้านั้น และนโยบายแวดล้อมที่จะส่งผลต่อเรื่องความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการนำเชื้อเข้ามา หรือระบบการกักตัว รวมถึงระดับความเข้มแข็งภายในประเทศ เช่น ระบบการตรวจคัดกรองโรค การจัดซื้อจัดหาเตรียมอาวุธป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปริมาณมากเพียงพอ และการผ่อนคลายมาตรการใช้ชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราประจักษ์ชัดแล้วว่า ศัตรูที่ชื่อโควิด-19 นี้มันร้ายกาจมาก และระบาดกระจายทั่วไป

.
สิ่งที่เราทุกคนจะทำได้คือ ช่วยกันสู้ยิบตา เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ครอบครัว และเพื่อประเทศของเรา เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และระแวดระวังอย่าหวนกลับไปทำซ้ำอีก
ที่สำคัญที่เราควรพิจารณาระดับนโยบายคือ

.
1.”ไม่ควรโปรโมทให้คนท่องเที่ยว” เพราะระบาดต่อเนื่อง ได้จะไม่คุ้มเสียอย่างยิ่ง
2.ควรจัดหาวัคซีนที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย เพื่อให้ใช้ได้หลายสถานการณ์ และมีปริมาณครอบคลุมทุกคนในประเทศ โดยรวมถึงคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศด้วย
3.ระบาดระดับที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ จำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มข้นเพียงพอที่จะหยุดการระบาด การล็อคดาวน์ระยะสั้นในพื้นที่จังหวัดหรือภาคที่มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันเกิน 10 คน เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อจัดการการระบาด ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะน้อยกว่า และจะช่วยให้ระบบสุขภาพมีเวลาฟื้นฟูสภาพ
4.เร่งเพิ่มศักยภาพระบบการตรวจคัดกรองโรค
ในสถานการณ์ปัจจุบัน การตัดสินใจข้างต้น ผมคิดว่าประชาชนทุกภาคส่วนน่าจะพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เพื่อที่จะทวงชีวิตความเป็นอยู่กลับคืนมาจากโควิด-19