เศรษฐกิจแบบนี้! สมุนไพร-อาหารเสริมของไทยขาลง สูญกว่า 4,000 ล้านบาท

329
0
Share:

นายพิษณุ อุชุวัฒน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า ตลาดสมุนไพรและอาหารเสริมในไทยเริ่มขาลงแล้ว ขายได้ยากขึ้น กำลังซื้อระดับล่าง หรือพอมีรายได้บ้างหายเกือบหมด เพราะผู้ซื้อก็เจอปัญหาของแพงกินของใช้ น้ำมันแพง เชื่อว่าจะซบเซาลงเรื่อยๆ และเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง คงไม่กลับมาคึกคักอีกแล้ว

สมาพันธ์กำลังจับตาและช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่กำลังเจอปัญหาให้ประคองตัวได้นานที่สุด ที่เรากังวลคืออาจประคองตัวได้ 6 เดือนจากนี้ แต่หลังจากนั้น หากรัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคจากกฎระเบียบของภาครัฐเอง ตลาดนี้คงเจอวิกฤตอีกยาวนาน และกลายเป็นตลาดที่ถูกขาดโดยต่างชาติผ่านผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม 3-4 ยี่ห้อที่แข่งขันกันขายผ่านออนไลน์และจัดส่งถึงบ้านอย่างวันนี้ ซึ่งประเมินได้ว่ามูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทที่หมุนเวียนในตลาดนี้

นายพิษณุ อุชุวัฒน์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปานะโอสถ จำกัด ผู้ผลิตยาสมุนไพร อาหารเสริมและสารสกัด เปิดเผยต่อไปว่า สถานการณ์ตลาดสมุนไพรและอาหารเสริมกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทำให้ยอดขายหดตัวประมาณ 30% มาตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเมินได้ว่ามูลค่าตลาดยาสมุนไพรหดตัวกว่า 1,000 ล้านบาท หากรวมกับตลาดอาหารเสริมที่ปกติมีมูลค่าต่อปีหลายหมื่นล้าน ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสองกลุ่มนี้มูลค่าการค้าน่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท

ปัจจัยกดดันจากกำลังซื้อหดตัวเข้าภาวะขาลง ผลต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวัง การปิดกิจการหรือการหยุดงานนานในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทบต่อรายได้และเงินสะสมหายไป

ความวิตกต่อความรุนแรงของการติดเชื้อโควิดลดลงและจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ทำให้การตื่นตัวของการสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น ลดลงมากในขณะนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายประชาชนจากราคาน้ำมันแพงกระทบต่อราคาสินค้าและราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ลดการซื้อยาสมุนไพรประจำบ้านและอาหารเสริม

นายพิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท ยังเจอปัญหาต้นทุนการผลิตและขนส่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หรือเจอต้นทุนสูงกว่า 15-30% ขึ้นกับผลิตสินค้า ทั้งจากแคปซูลบรรจุยา พลาสติก กระดาษ วัตถุดิบส่วนผสมที่หายากและราคาแพงมาก เฉพาะค่าขนส่งสูงขึ้นกว่า 15% นอกจากนี้ มีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นต่างชาติที่เป็นช่องทางสื่อสารและจำหน่าย จากเดิมสื่อสารผ่านวิทยุและทีวี เป็นหลัก

ดังนั้น จาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัว เริ่มจากลดขนาดบรรจุเพื่อขายจากเดิม 50 แคปซูล ก็เหลือ 20-30 แคปซูล เพื่อให้ขายได้ในราคาเท่าเดิมหรือลดลงให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ และเริ่มหาสินค้าสำเร็จรูปและนำข้าจากต่างประเทศมาแทนการผลิตในประเทศ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรในเรื่องกฎระเบียบของภาครัฐต่อการเข้มงวดไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ข้อกำจัดเผยแพร่ด้านสรรพคุณ หรือ การเพิ่มส่วนผสมวัตถุดิบในการผลิตใหม่ๆ ที่จะช่วยทดแทนวัตถุดิบในไทยที่หายากและราคาแพง