เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.63 พบสัญญาณชะลอตัวหลังเจอไวรัสโควิด 19

569
0
Share:

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลง ส่วนภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง แต่การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่
.
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่กลับมาขยายตัว 4.6 %ต่อปี แต่การบริโภคในหมวดสินค้า คงทน จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงที่ -15.4% และ -3.7 %ต่อปี ตามลำดับ
.
นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่การส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง และอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงขยายตัวที่ 16.4 %และ 6.1 %ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.06 ล้านคน หรือลดลงตัวร้อยละ -42.8 ต่อปี จากการลดลงในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงถึง -84.9% และนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ อาทิ นักท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย
.
ด้านภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว -4.5% ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -5.2 %ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และเม็ดพลาสติก
.
แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7 %ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5 %ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนม.ค. 2563 อยู่ที่ 41.3 %ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้