‘เอกชน’มั่นใจส่งออกปีนี้แตะ 12% จี้รัฐเร่งคุมโควิด

349
0
Share:

‘เอกชน’มั่นใจส่งออกปีนี้แตะ 12% จี้รัฐเร่งคุมโควิด หวั่นล็อกดาวน์อีกรอบกระทบส่งออกปลายปี
.
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกเดือนส.ค. มีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.93% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัยการส่งออกขยายตัว 19.43%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 47.92% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในเดือนส.ค. 2564 ขาดดุลเท่ากับ 1,215.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 49,832.40 ล้านบาท
.
สำหรับภาพ 8 เดือน(ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว15.25% โดยทั้งนี้สรท.ยังเป้าหมายส่งออกไทย เติบโต 12% จากมีปัจจัยบวก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่องและอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทำให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดในระยะ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์
.
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ และการกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มเพิ่มขึ้นหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดภายในสิ้นปี จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการส่งออกจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้
.
นอกจากนี้ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 65 โดยเฉพาะ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องและอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์
.
ยังมั่นใจส่งออกปีนี้ทั้งปีจะโตได้ 12% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งไตรมาสสุดท้ายน่าจะอยู่ที่เดือนละ 2.1-2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจะโตถึง 14-15%หรือไม่ อาจจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสรท.จะมีการประเมินภาพรวมอีกครั้งในเดือนพ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามสรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐ ดังนี้
.
1.ขอให้เร่งฉีดวัคซีนกับพนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19
2.เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าขนส่งไหวและจะกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของประเทศ
3.เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม
4.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก