เอกชน ยันสินค้าประมงไร้ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19

715
0
Share:

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีแหล่งแพร่กระจายมาจากตลาดกลางกุ้งใน จ.สมุทรสาคร และขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดและนอกจังหวัดนั้น มีข้อมูลทางวิชาการจากกรมประมง ยืนยันชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ใช่เกิดจากการแพร่ระบาดจากสัตว์น้ำสู่คน แต่เป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และได้นำเชื้อโควิด-19 เข้ามาในประเทศเมื่อเดือนส.ค.2563 และเข้ามาอยู่ปะปนกับชุมชนแรงงานต่างด้าวเก่าที่อยู่ในประเทศไทยมานาน จนทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ต่อๆ กันมา
.
ดังนั้นขอยืนยันกับประชาชน ผู้บริโภค ผู้ซื้อ และผู้นำเข้าว่า สัตว์น้ำไทยได้มีการดูแลปฏิบัติ ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในตัวสินค้า เพื่อการบริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มที่ที่สุด และให้ความร่วมมืออย่างดีกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งที่ผ่านมา และในอนาคต
.
ด้านวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย ซึ่งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เพิ่มมาตรการในการดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานในกระบวนการผลิตสินค้าประมงในโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด เพื่อยืนยันว่า สินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด
.
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุกด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งวัตถุดิบ และการปฏิบัติในโรงงาน ทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้นำเข้าว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี
.
ขณะที่นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้กำหนดนโยบายให้สมาชิกทั้งโรงงานทูน่า และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผู้ค้าจัดส่งปัจจัยการผลิต (Supply chain) ให้โรงงานทูน่าดำเนินการตามมาตรการพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข และกรมประมง ในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำส่งออก เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต
.
ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมโครงการ “การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice) ซึ่งจะได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก
.
โดยปลาทูน่ากระป๋องของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะกระบวนการผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพของปลาทูน่ากระป๋องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บรักษาปลาทูน่าหลังจับจากทะเลจนถึงส่งขาย อยู่ภายใต้ระบบ HACCP, สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความ ดัน (RETORT) ที่อุณหภูมิสูงกว่า 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานจนค่าความร้อนมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งหมด รวมถึงไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นค่าความร้อนที่ใช้อ้างอิงจากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO/CODEX) ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19
.
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัยด้วยระบบ GMP และ HACCP เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารสำเร็จรูปมีความปลอดภัย และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อระดับสเตอริไลซ์ด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 110 องศาเซลเซียส โดยกระบวนการฆ่าเชื้อดำเนินการภายหลังการปิดฝาแล้ว จึงยืนยันได้ถึงความปลอดเชื้อ และสามารถจัดเก็บได้นานที่อุณหภูมิปกติ