แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทย เม.ย. ฟื้นตัว รับท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน มองค่าครองชีพสูง

237
0
Share:
แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ เศรษฐกิจไทย เม.ย. ฟื้นตัว รับท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน มองค่าครองชีพสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. 66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากกิจกรรมภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

โดยนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า

ซึ่งเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน ปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายรถยนต์ หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้น จากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด (1) ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า (2) อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง เพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิง ลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน อีกทั้งราคาในหมวดอาหารสดลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่า เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย