แบงก์ชาติลดเป้าเศรษฐกิจไทยลง 2 ปีซ้อน ปีเสือเหลือ 3.2% รับพิษสงครามรัสเซีย

323
0
Share:

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 1 /2565  ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อว่า ในเดือนมีนาคม 2565 ธปท.ได้ปรับประมาณการณ์คาดการณ์ เศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2565 และ ปี2566   อยู่ที่ขยายตัว3.2% และ 4.4%  ตามลำดับ จาก ประมาณการณ์เดือน  ธ.ค.2564 ขยายตัวอยู่ที่  3.4% และ 4.7% ตามลำดับ  ผลพวงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นสำคัญ ส่งผ่านเงินเฟ้อทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์  ส่วนการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่าระลอกเดลต้า โดยคาดว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมาก (large-scale lockdown) และมีการทยอยผ่อนคลายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ ไตรมาส1/2565

ด้านอัตราเงินเฟ้อ มีการปรับประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 65 และ 66 เป็น 4.9% และ 1.7% ตามลำดับสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 65 จะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก และการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ทั้งนี้ ผลดังกล่าวจะทยอยลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีความเสี่ยงที่อาจสูงกว่ากรณีฐาน จากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในบริบทของเศรษฐกิจไทยเป็นผลจาก cost-push shocks โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก ขณะที่ demand shocks ส่งผลไม่มากนัก โดยยังไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นส่งผ่านไปยังสินค้านอกหมวดพลังงานและหมวดอาหาร   อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% และไม่อ่อนไหวตามความผันผวนของราคาระยะสั้น

โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 66 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะบรรเทาลง ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  โดยการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า โดยสามารถมองข้ามผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในช่วงนี้ได้

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยในบริบทปัจจุบัน นโยบายการเงินสามารถมองผ่าน ความผันผวนระยะสั้นได้ แต่ต้องติดตามการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและ เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ   (underlying inflation)  ในระยะต่อไป รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 65