แบงก์ชาติส่งสัญญาณจ่อปรับ ‘ขึ้น’ ดอกเบี้ยนโยบาย ชี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวไม่แน่นอน

443
0
Share:
แบงก์ชาติ

นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา New Chapter เศรษฐกิจไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ การปรับรูปแบบนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งจะต้องดูความสมดุลในการดูแลเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบานการเงิน(กนง.) จะเห็นความเหมาะสมเมื่อไหร่ ซึ่งสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประเมินว่า ในปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามา 5-6 ล้านคน ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ฉะนั้น เศรษฐกิจจึงเป็นการฟื้นตัวไม่แน่นอน และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนเงินเฟ้อก็ขยายตัวสูงกว่าที่คาด

ซึ่งเศรษฐกิจไทยหลังโควิดจะเผชิญความท้าทาย 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังที่เหลือน้อย เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 40% เป็น 58% ในปัจจุบัน และมีการจัดงบขาดดุล ซึ่งหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น เป็น 67% ในปี 2569 ฉะนั้น เมื่อฟื้นวิกฤตควรปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะให้กลับสู่ระดับไม่เกิน 60% ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ในการใช้นโยบายการคลังในอนาคต หากเจอวิกฤตเศรษฐกิจไม่คาดคิดอีก

ดังนั้น โจทย์สำคัญ คือ การหารายได้เพิ่ม และการบริหารงบประมาณที่มีอย่างจำกัดจะเป็นโจทย์รัฐบาลชุดต่อไป รวมถึง นโยบายการเงินด้วย เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดถึง 0.5% แล้ว ระยะต่อไปก็คงต้องมีการปรับขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม

2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้ ความคิดเห็นต่างในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโควิดมีผลกระทบรุนแรงต่อคนรายได้น้อย รวมถึง ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยการจ้างงาน หนี้ครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้น และกลุ่มเปราะบางก็ได้รับผลกระทบด้วย ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ยังรวมถึงความเห็นต่างในสังคม ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป

3.คุณภาพของคนถดถอยในภาวะวิกฤต เกือบ 2 ปี ที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ก็จะสูญเสียโอกาสผลสัมฤทธิ์ลงไปอีก นักศึกษาจบใหม่ก็หางานทำไม่ได้ กระทบต่อโอกาส และเสถียรภาพการทำงานในระยะยาว

4.เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าเสถียรภาพ การท่องเที่ยวจะกลับมา 40 ล้านคน ต้องใช้เวลาอีกระยะ ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยยังมีส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการเต็มที่ ส่วนการผลิตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นน้อยมาก ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องดูแล และ

5.การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีรวดเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข่าวดีของโควิด

“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม เห็นแล้วว่า การเติบโตอาจไม่ตอบโจทย์ New Chapter และไปนำไปสู่ปัญหา ฉะนั้น จากนี้ไปต้องสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพในทุกสาขา ขณะที่ การจัดงบประมาณของรัฐยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจเก่า ควรจะทบทวนภารกิจและระบบที่จะมาสนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นพระเอกใน New Chapter ให้สามารถสนับสนุนเอกชน และผู้ประกอบการเติบโตขึ้นได้”