แบงก์ชาติใจเย็นกับภาวะเงินเฟ้อ ชี้เข้าวของแพงชั่วคราว พบส่วนใหญ่ 54% ยังไม่ขึ้นราคา

532
0
Share:
เศรษฐกิจ

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปี และ 5 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายไม่เกิน 3% สะท้อนว่าผู้ร่วมตลาด (เจ้าของสินค้า คนขายสินค้า) จะทยอยปรับลดลงในระยะต่อไป แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงาน แม้ว่าเราจะมองว่าราคาจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้ และปัญหา Supply disruption ที่อาจยืดเยื้อได้ จึงทำให้เงินเฟ้ออยู่ในด้านขาเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ธปท.ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จากเดิมที่ 1% ขึ้นเป็น 1.2% ในปี 2565 จาก 1.4% เป็น 1.7% และในปี 2566 อยู่ที่ 1.4% สาเหตุจากปัจจัยด้านอุปทานชะงัก หรือ Supply Disruption และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบนั้น แบงก์ชาติประเมินว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 การประมาณการราคาน้ำมันดิบในปี 2565 อยู่ที่ 68.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 65.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปี 2566 อยู่ที่ 69.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ไม่มากนัก โดยในปี 2565 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.4% ปรับจาก 0.3% ซึ่งปรับตามการขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และในปี 2566 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7% ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ แบงก์ชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจากการสำรวจ พบว่าการส่งผ่านต้นทุนยังทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอุปสงค์ยังคงฟื้นตัวช้า ทำให้การปรับราคาในวงกว้างยังทำได้ยาก โดยการสำรวจพบว่า 55% ยังไม่ปรับเพิ่มราคาในอีก 3 เดือนข้างหน้า และมีประมาณ 34% ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 20%