แพทย์เตือนแล้ว 15 เมษายนนี้ ไทยเสี่ยงสูงติดเชื้อทะลุ 350,000 ราย ไม่เปลี่ยนวิธี

1824
0
Share:

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและทีมงาน ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อคล้ายกับประเทศเยอรมนี อยู่ที่ประมาณวันละ 33% ซึ่งในอัตราการเพิ่มระดับนี้ หากเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ (15 เมษายน 2563) ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 351,948 ราย
.
ในจำนวนนั้น จะมีคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาล 52,792 ราย มีคนไข้ที่ต้องใช้ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) 17,597 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7,039 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะรับไหว เพราะในปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว (Isolation) ห้องแยกผู้ป่วยรวมหลายเตียง (Cohort Ward) และห้องความดันลบ (AIIR) ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมกันอยู่ที่ราว 7,063 เตียงเท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยไปถึงจุดนั้น อาจจะสะท้อนภาพเหตุการณ์ในประเทศอิตาลีที่โรงพยาบาลจะต้องเลือกว่าจะรักษาใคร
.
อย่างไรก็ตาม หากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนร่วมมือกัน ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อจากวันละ 33% ลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 20% ได้ ในวันที่ 15 เมษายน 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเพียง 24,269 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายในเวลานี้ ถึงแม้ว่าตัวเลขที่คาดการณ์นี้จะไม่ได้ดีไปกว่าประเทศที่ควบคุมได้อย่าง ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ แต่ก็จะไม่บานปลายเช่นในประเทศโซนยุโรป
.
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแสดงความเห็นและให้คำแนะนำเกี่ยวกับระยะการแพร่เชื้อและมาตรการที่ภาครัฐควรบังคับใช้ดังนี้
.
ระยะที่ 1: มีผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศ
มาตรการที่ควรใช้คือการปิดกั้นไม่ให้คนจากต่างประเทศเข้ามา (containment) เช่น การระงับการเดินทางของคนจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในประเทศ ในระยะที่ 1 นี้ ประเทศไทยไม่ได้แบนชาวต่างชาติจากประเทศกลุ่มเสี่ยงในช่วงแรก หลายคนที่เข้ามาไม่ได้แสดงอาการ การตรวจคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิมีความแน่นอนเพียง 48% เท่านั้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อเล็ดลอดเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการครอบคลุมทุกประเทศ ทั้งทางเครื่องบิน และชายแดนของประเทศ โดยให้ทุกคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องมีหนังสือรับรองว่าปราศจากเชื้อไวรัส และต้องถูกจำกัดพื้นที่อีก 14 วัน
.
ระยะที่ 2: ผู้ติดเชื้อแพร่เชื้อให้คนในประเทศ
มาตรการที่ควรใช้คือการตรวจจับคนติดเชื้อให้ได้และนำไปกักกัน เพื่อแยกออกจากคนในสังคม (isolation) และการนำคนที่มีประวัติไปสัมผัสกับคนที่ติดเชื้อไปกักกันเพื่อเฝ้าระวังจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค (quarantine)
ในระยะนี้ ควรมีการปิดพื้นที่เสี่ยง (mitigation) เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง ต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดและครอบคลุมทุกพื้นที่
.
ระยะที่ 3: คนในประเทศที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้คนในประเทศด้วยกัน
มาตรการที่ต้องรีบทำคือ การปิดประเทศ ปิดเมือง เพื่อไม่ให้คนติดเชื้อใหม่จากภายนอกเข้ามา และเพื่อไม่ให้คนที่ติดเชื้อในประเทศแพร่เชื้อออกไป ร่วมกับการให้คนในประเทศพยายามอยู่บ้าน ไม่เดินทางพร่ำเพรื่อ สังเกตอาการตนเองและครอบครัว เพราะเชื้อมีอยู่ทั่วไป มาตรการนี้จะช่วยตัดวงจรการระบาดได้ โดยควรมีระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ (ระยะฟักตัว+ระยะเวลาที่ไวรัสสามารถแพร่เชื้อได้)
.
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เน้นย้ำว่า การรักษาระยะห่างระหว่างกัน (social distancing) จะช่วยลดอัตรการแพร่เชื้อได้มาก ซึ่งคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน”