โควิดลากยาว คนไทยจ่อตกงาน 7 – 8 ล้านคน

615
0
Share:

นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงานโควิด-19 เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดแรงงานว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลทำให้สถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 4,458 แห่ง ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุจนถึง ก.ค. 2563 ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างสูงถึง 896,330 คน และลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง จากการปิดกิจการ 332,060 คน
.
รวมทั้งมีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 62% หรือ 1.368 ล้านคำร้อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนส.ค.-ต.ค. หากมีการขยายมาตรการกว่าอีก 800,000 คน รวมจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3.39 ล้านคน
.
สำหรับ 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว คือ ภาคการผลิต โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ โดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติม เพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง
.
โดยยอมรับว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น รวมถึงกระทบกับภาคการส่งออก ภาคการผลิตส่งออกกลับมาไม่ได้ โอกาสที่แรงงานจะตกงานถึง 7-8 ล้านคน
.
ส.อ.ท.จึงขอเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเยียวยา 7 ข้อ ประกอบด้วย
.
1. ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% จนถึงสิ้นปีนี้
.
2.เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจาก 90 วัน เป็น 150 วัน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 ส.ค. 63 เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค.63
.
3.เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน
.
4.ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545
.
5.ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตามพ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เหลือ 0.01%
.
6.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี
.
7.จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง