โตได้อีก! ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เม็ดเงินในธุรกิจ Health Tech ในไทย 300-400 ล้านบาท โอกาสเติบโตอีกกว่า 10%

399
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับวงการเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Tech ในประเทศไทยปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาท และคาดว่าในระยะ 3 -5 ปีข้างหน้า มูลค่าการใช้จ่ายในวงการตลาด Health Tech ของไทย น่าจะเติบโตได้ในช่วง 10-12% สาเหตุจากความต้องการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ B2B ผ่านการให้บริการของสถานพยาบาล และธุรกิจสุขภาพ ซึ่งนำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุน โดยมีสัดส่วน 65-75% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด

เมื่อเปรียบเทียบตลาดแบบ B2B กับตลาดผู้บริโภคขั้นสุดท้าย จะพบว่า ตลาดแบบ B2B จะมีมากกว่าตลาดแบบ B2C เช่น แอปพลิเคชันสุขภาพบนมือถือ เนื่องจากธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้จำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการลงทุน Health Tech ที่สูงกว่า

สำหรับกระแสรักสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในไทย ทำให้ธุรกิจสุขภาพและสถานพยาบาลปรับตัวตอบสนองต่อการดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการรักษาโรค รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทยในปี 2565 ที่จะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมกว่า 14 ล้านคน ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

โดยรูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนจากการรักษาโรคและดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ไปสู่การดูแลสุขภาพแบบครบวงจร  Health Tech ได้เข้ามามีบทบาทเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ก็เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นในการช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับการบริการ

ในด้านการลงทุนของภาคธุรกิจใน Health Tech นั้น ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการลงทุน รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งานในระยะยาวมากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ในขณะที่ธุรกิจสุขภาพ SME อาจไม่ได้ลงทุนในระบบ Health Tech ของตนเอง แต่อาศัยการใช้งานแพลตฟอร์มตัวกลางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเชื่อมโยงร้านขายยา ร้านสินค้าสุขภาพในเครือข่าย เพื่อสั่งจ่ายยากรณีที่ผู้ป่วยพบแพทย์ทางไกลได้

ขณะที่การใช้งานรูปแบบ B2C กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 30-39 ปี ที่ใช้งานแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทวอช เช่น แอปพลิเคชันออกกำลังกาย การตรวจวัดสุขภาพ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งานที่ผู้บริโภคเลือกใช้

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการแพร่ระบาด ประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความคุ้นเคยการใช้งาน Health Tech มากขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ธุรกิจ Health Tech มีโอกาสในอนาคตมากขึ้น