โลว์คอสต์อ้อนคลังปรับลดภาษีน้ำมัน

680
0
Share:

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย // เวียดเจ็ตแอร์ // บางกอกแอร์เวย์// ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ 4.726 บาทต่อลิตร มาตั้งแต่ ก.ย. 2560 ซึ่งเป็นการปรับอัตราแบบก้าวกระโดดจากเดิมที่ 0.2 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤต มีผลประกอบการในปีนี้ขาดทุนทุกราย
.
โดยผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ระบุว่า ปัจจุบันต้องประสบปัญหา 2 ด้าน คือ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จากเดิมที่มียอดจอง 80-100% ต่อเที่ยวบิน เหลือแค่ 70-80% ต่อเที่ยวบิน อีกทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเดิม 35 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้สายการบินได้รับผลกระทบจากสต็อกน้ำมันที่สะท้อนตามต้นทุนที่แท้จริง จึงเสนอให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือ 2 แนวทางคือ
.
1. ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงในช่วงเวลา 2-3 ปี ให้ปรับตัว
.
2. กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตแบบขั้นบันไดผันแปรตามอัตราแลกเปลี่ยน
.
ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการในเบื้องต้น ก็ดูว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร ให้ผู้ประกอบการไม่ทรุดหนักไปกว่าเดิม และภาครัฐไม่เสียหาย รวมทั้งไม่กระทบ หรือได้เปรียบเสียเปรียบกับภาพรวมต้นทุนน้ำมันในธุรกิจขนส่งอื่น ซึ่งจะเสนอประเด็นทั้งหมดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าเห็นชอบก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางข้อยุติในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปโดยเร็ว
.
ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชันและ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ ไม่ได้เสนอว่าควรจะต้องมีการปรับลดอัตราภาษีลงเท่าใด ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกระทรวงการคลัง แต่หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล คาดว่าในปี 2563 สายการบินโลว์คอสต์บางราย จะต้องลดขนาดองค์กร ลดเที่ยวบิน หรืออาจจะถึงขั้นหยุดสายการบินไปเลย ซึ่งผู้ประกอบการคงไม่สามารถไปขึ้นราคาโดยสารได้ ถ้าผลักภาระส่วนนี้ จำนวนคนเดินทางก็จะยิ่งลดลงไปอีก