ไทยพบพันธุ์โอไมครอนระบาดทั่วประเทศแล้ว คาดสิ้นเดือนนี้กลายเป็นพันธุ์หลักเเทนเดลต้า

379
0
Share:
โควิด

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวโควิดในไทย ว่าขณะนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบเชื้อโอไมครอนแล้วได้พบทุกพื้นที่แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 20 ม.ค. 2565 พบโอไมครอนสะสม 10,721 ราย จังหวัดที่พบสูงสุด 10 จังหวัด คือ กทม. 4,178 ราย , ชลบุรี 837 ราย , ภูเก็ต 434 ราย , ร้อยเอ็ด 355 ราย , สมุทรปราการ 329 ราย , สุราษฎร์ธานี 319 ราย , กาฬสินธุ์ 301 ราย , อุดรธานี217 ราย , เชียงใหม่ 214 ราย และขอนแก่น 214 ราย ซึ่งสมุทรปราการและเชียงใหม่มีแนวโน้มถือว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงแรกสัดส่วนอาจไม่เป็นตามความเป็นจริง เพราะเน้นการตรวจผู้ที่มาจากต่างประเทศ และในประเทศตรวจในกลุ่มที่สัมผัสเสี่ยงสูงคนติดเชื้อจากต่างประเทศ

โดยแต่ละเขตสุขภาพจะตรวจผู้เดินทางจากต่างประเทศและเดินทางผ่านชายแดนที่นำเชื้อเข้ามาทุกราย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศเราสุ่มจากผู้มีผลบวกในแต่ละวันเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ โดยข้อมูลช่วงวันที่ 11-17 ม.ค. จำนวน 3,711 ตัวอย่าง ภาพรวมพบโอมิครอน 86.8% เมื่อแยกดูตามกลุ่ม พบว่าเฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,437 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 96.9% ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน 80.4% เดลตา 19.6% ถือเป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ

ภาพรวมของการสุ่มในคนทั่วไปที่ติดเชื้อพบเดลตาเหลือ 15% แต่มีบางกลุ่มที่สัดส่วนเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น กลุ่มรุนแรงหรือเสียชีวิตพบเดลตา 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอไมครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา บุคลากรทางการแพทย์ยังเจอเดลตา 25% อาจเพราะรับวัคซีนเข็ม 3-4 ทำให้โอมิครอนที่อาจหลบได้ หลบได้ยากขึ้น ส่วนคนติดเชื้อซ้ำ 8 รายเป็นโอไมครอน 100% ทั้งนี้ คนติดเชื้อเดลตาเดิมมักไม่ป่วยเดลตาซ้ำ เพราะภุมิค่อนข้างสูงต่อสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ แต่ยังติดซ้ำด้วยโอมิครอนได้ หมายความว่าภูมิจากเชื้อเดิมๆ กันโอไมครอนไม่ได้

ข้อสรุปการเฝ้าระวังโอมิครอนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การระบาดสายพันธุ์นี้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว คนที่มาจากต่างประเทศสูงถึง 97% เป็นโอมิครอน ส่วนในไทยพบประมาณ 80% อาการรุนแรงและเสียชีวิตเกิดจากเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นอย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรง แต่อาจเจอเดลตาแทนได้ กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำเกิดจากโอไมครอน และคาดว่าสิ้นเดือน ม.ค. ภายในประเทศโอไมครอนอาจขึ้นไปเท่ากับคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดลตาจะหายไปในที่สุด