4 ปัจจัยเสี่ยงตลาดแรงงานไทย ทำรายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบการชำระหนี้

522
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) รายงานว่า วิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน โดยนำไปสู่การตกงานของแรงงานจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 ถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวจำนวนสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
.
หลังคลายล็อกดาวน์ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมบ่งชี้ว่า แม้อัตราการว่างงานในภาพรวมจะลดลงบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังถือว่าอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ได้แก่
.
(1) อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยแรงงานในระบบประกันสังคม ปัญหาการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราการว่างงานตามระบบประกันสังคมในเดือนส.ค. อยู่ที่ 3.9% ต่อแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 ทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 และเดือนกรกฎาคมปีนี้ที่ 2.8% และ 3.7% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าลูกจ้างในระบบที่ตกงานมีการย้ายไปสู่การเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เช่น อาชีพอิสระ งานรับจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจมีรายได้ที่น้อยกว่า ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมน้อยกว่าหรือไม่มีเลย รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่น้อยกว่าแรงงานในระบบ
.
(2) กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง และยังสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นมาโดยตลอด เมื่อเจอวิกฤติโควิดปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุน้อยได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.6% ต่อกำลังแรงงานอายุน้อยทั้งหมดในไตรมาส 2 ปี 2563 และเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องไปที่ระดับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่การจ้างงานของแรงงานอายุน้อยก็ได้รับ
ผลกระทบมากกว่าแรงงานกลุ่มอายุอื่น ๆ เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานของกลุ่มเยาวชนเพิ่มจาก 7.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ไปอยู่ที่ 25.2% ในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมที่อยู่ที่ 13.3% ในเดือนเดียวกัน
.
ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานอายุน้อยส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน และการว่างงานจะทำให้เกิดการขาดช่วงของการสร้างทักษะและสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน
.
(3) จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) ยังสูงกว่าในอดีตมาก โดยจำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว ที่มีจำนวนถึง 2.5 ล้านคนในช่วงล็อกดาวน์ แม้หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์หลายกิจการได้กลับมาดำเนินการตามปกติส่งผลให้จำนวน furloughed workers ลดลงไปอยู่ที่ 7.5 และ 4.4 แสนคน ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม แต่จำนวน furloughed workers ในช่วง 2 เดือนล่าสุดก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนอยู่ที่เพียงราว 1-1.5 แสนคนเท่านั้น เนื่องจากหลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เท่าศักยภาพในอดีต บางส่วนอาจกลายเป็นคนตกงานได้ในท้ายที่สุดหากกิจการขาดสภาพคล่องจนต้องลดคนหรือปิดกิจการ
.
(4) สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้น แนวโน้มของสัดส่วนการทำงานต่ำระดับที่มากขึ้นจากช่วงล็อกดาวน์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 งานเต็มเวลา (งานที่ทำตั้งแต่ 35 ถึงไม่เกิน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และงานล่วงเวลา (งานที่ใช้เวลาทำมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขึ้นไปหรืองานโอที) มีจำนวนลดลงรวมกันสูงถึง 4.8 ล้านคน
.
ขณะที่จำนวนงานต่ำระดับ (งานที่ทำเกิน 0 ถึงไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) รวมถึงจำนวนการหยุดงานชั่วคราวกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมงานเต็มเวลาและล่วงเวลาก็ยังคงลดลง ขณะที่งานต่ำระดับยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดลงประมาณ 2.1 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน
.
EIC คาดว่าตลาดแรงงานจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากกำลังในการดูดซับแรงงานที่ถดถอยลงของภาคธุรกิจและปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะ เป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากนัก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคง และความล่าช้าในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และยังอาจส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง