หนี้บานตะไท! ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินชี้หนี้สาธารณะไทยจ่อแตะ 60% สิ้นปีนี้ ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยอ่อนแอต่อเนื่อง

853
0
Share:

ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านไปนั้น สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง เป็นที่ทราบกันดีว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เศรษฐกิจไทยตกต่ำ และมีฐานตัวเลขจีดีพีต่ำมากถึง -12.1% ดังนั้น จึงมีตัวเลขการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ได้ 7.5% ด้านการบริโภคและการลงทุนในประเทศชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 จากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด -19 ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในรอบที่ 3 มาถึงปัจจุบัน สรุปได้ว่ามีความรุนแรงกว่า กว้างขวางกว่า และยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนนี้ ดังนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มสูงที่จะหดตัวลงในไตรมาส 3 จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล สอดรับกับมาตรการ ปิดล็อกดาวน์ที่ถูกขยายระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง

KKP Research ประเมินว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะเข้าใกล้ระดับเพดาน 60% ต่อมูลค่าเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลงมาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลเป็นปัจจัยบวกทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยที่เป็นภาระต่องบประมาณรัฐบาลน้อยลง จากจุดนี้ รัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมได้อีก หากการใช้จ่ายด้านการคลังมีความจำเป็น

แต่ที่สำคัญ คือรัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินงบประมาณที่เปลี่ยนไปตามความท้าทายของปัญหา ใช้เงินให้คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ ให้มีการรั่วไหลน้อยที่สุด และมีแผนในการลดการขาดดุลและรักษาวินัยทางการคลังในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จากวงกว้างในระดับสังคมลงลึกมาสู่ระดับเศรษฐกิจทุกชนชั้น มีจุดเริ่มต้นการหยุดชะงักของรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจลุกลามไปยังปัญหาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะทางการเงิน กำไร และกระแสเงินสดของธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะเป็นต้นตอที่นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา ประกอบด้วย การจ้างงาน การลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเพิ่มผลกระทบให้กระจายเป็นวงกว้างกับธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ และปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และค่าเช่าของบริษัทจากกระแสเงินสดที่ไม่เพียงพอ

ประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือน ในกรณีเลวร้ายที่สุด ธุรกิจหลายแห่งอาจต้องปิดตัวลงถาวรภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ด้านตลาดการเงินความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ปัญหากระจายเป็นวงกว้างได้

KKP Research ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร มองว่านโยบายการเงินควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัว และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยปรับปรุงนโยบายเดิม และพิจารณาเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่ก้าวออกจากกรอบการทำนโยบายการเงินแบบเก่า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research มองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำนโยบายเยียวยา กระตุ้น ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทางออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตในครั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถป้องกันการป่วยรุนแรง ลดความสูญเสีย และลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข