BCG Model กระตุ้น GDP 1 ล้านล้านบาท

1252
0
Share:

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ครั้งล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งเดินหน้า BCG Model ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่จะขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
.
ตลอดจนกระจายเม็ดเงินสู่ฐานราก และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศ โดยเน้นให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ให้จริงจังเทียบเท่ากับการผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจ EEC และไทยแลนด์ 4.0
.
โดยเศรษฐกิจใหม่ BCG ตั้งเป้าให้สามารถเพิ่มตัวเลข GDP ของไทย ให้ได้ประมาณ 30% คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2564-2568 โดยจะเป็นการใช้องค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลักของประเทศทั้งเกษตร อาหาร การแพทย์ พลังงานและเคมีชีวภาพ ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่มาต่อยอดผลผลิตและสร้างอาชีพใหม่ คล้ายกับ New S-curve เป็นอุตสาหกรรมการผลิตน้อยแต่รายได้มาก
.
ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ 200% เช่น เนื้อวัวทั่วไป 250 บาท/กก. แต่ถ้าเป็นเนื้อวัวพันธุ์ดีจะราคา 750 บาท/กก. หรือการเพิ่มมูลค่าชานอ้อย 1 บาท/กก. ให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ มูลค่า 260 บาท/กก. และ 1,000 บาท/กก. ตามลำดับ ตลอดจนยกระดับสินค้าหัตถกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะ เพิ่มมูลค่า 90 เท่าเพื่อขายนักท่องเที่ยว
.
สำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG นั้น คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 760,000 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2564-2573 แบ่งเป็นรัฐลงทุน 30% และเอกชน 70% โดยเป้าหมายการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่จะเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำประกอบด้วย
.
1.เพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน 240,000 บาท/ครัวเรือน ภายใน 5 ปี เพื่อให้ไทยหลุดกับดักรายได้ปานลาง
.
2.เกิดการจ้างงานใหม่ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปี โดยเน้นแรงงานทักษะสูง.
.
3.กระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 10 ล้านคน ภายใน 5 ปี
.
4.ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงยาและการแพทย์ อย่างน้อย 300,000 คน/ปี
.
5.ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตรายได้สูง BCG สร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 10 ปี
.
6.ผลิตสตาร์ทอัพด้าน BCG ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
.
7.ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร คลอบคลุม อาหารและการแพทย์ 300,000 คน/ปี
.
8.ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรลง 60% จากปัจจุบัน
.
9.ลดปริมาณขยะ 16.5 ล้านตัน/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50 ล้านตันภายใน 10 ปี
.
10.ผลักดันให้ไทยติด 1 ใน 3 ของแหล่งท่องเที่ยวในเอเซียแปซิฟิก
.
อย่างไรก็ตาม BCG แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ 1.ด้านการเกษตรและอาหาร เป็นการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างความหลากหลายและความแตกต่าง ต่อยอดผลผลิตไปทำสิ่งใหม่ที่ขายได้แพงกว่า เช่น สารอาหารและสารประกอบมูลค่าสูง คาดว่าจะเพิ่มมูลค่า GDP ด้านอาหารเพิ่มขึ้น 50% จากปัจจุบัน 600,000 ล้านบาทเป็น 900,000 ล้านบาท
.
2.สุขภาพและการแพทย์ เตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางยาและเวชภัณฑ์ของภูมิภาค (Medical Hub) และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อลดการนำเข้า ยกระดับบริการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน คาดว่าจะเพิ่ม GDP กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ได้ 100% จากปีละ 40,000 ล้านบาท เป็น ปีละ 90,000 ล้านบาท
.
3.พลังงานและเคมีชีวภาพ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ในภาคเศรษฐกิจด้านนี้ให้มากขึ้น 160% จากปีละ 95,000 ล้านบาทเป็น ปีละ 260,000 ล้านบาท หวังเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน 30% ในปี 2579 แปรรูปของเสียเป็นเงิน เช่น ผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ
.
4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ด้านการท่องเที่ยว 40% หรือมูลค่า 400,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้ปีละ 1 ล้านล้านบาท ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรและโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ตลอดจนผลักดันกิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น
.
ส่วนด้านพื้นที่เป้าหมาย แบ่งเป็น 4 ระเบียงเศรษฐกิจ แบบ 4.0 ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) พัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตร และวัฒนธรรมล้านนาส่งเสริมการท่องเที่ยว // ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เน้นการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีใหม่ เพิ่มรายได้ 900% ให้กับเกษตรกร ตลอดจนเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเมืองปักษ์ใต้ยุคใหม่
.
ระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน (NEEC) พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ยกระดับสุขภาพคนอีสาน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและปสุสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมท่องเที่ยวริมโขง และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผลไม้ให้ราคาสูงขึ้น แกนกลางขับเคลื่อนภาคพลังงานและเคมีชีวภาพ แหล่งรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่