TCELS เปิดสัมมนาชี้ช่องทางแห่งความมั่งคั่ง วิเคราะห์เกมการลงทุน และโอกาสการเติบโตของธุรกิจ Life Sciences ในยุคโควิด-19

635
0
Share:
TCELS เปิดสัมมนาชี้ช่องทางแห่งความมั่งคั่ง วิเคราะห์เกมการลงทุน และโอกาสการเติบโตของธุรกิจ Life Sciences ในยุคโควิด-19

 

เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงานสัมมนาออนไลน์ Business Forum and Business Matching: How to Invest in Covid-19 Situation? วิเคราะห์การลงทุนช่วงโควิด-19 และโอกาสของการเติบโตในธุรกิจ Life Sciences ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00–15.30 น. ผ่านระบบ Zoom Meeting ที่บริษัท 365 Solutions จับมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย TCELS มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมงานวิจัย การสร้างองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ไปสู่การแปลงเป็นเชิงพาณิชย์

สำหรับช่วงการสัมมนาในพาร์ทแรกได้รับเกียรติจาก 4 กูรูสายการลงทุน เศรษฐศาสตร์ นักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีมืออาชีพ ได้แก่ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล บริษัทสตาร์ทอัพ Nabsolute จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภญ.วันทณีย์ เสนาคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประสบการณ์จริง

ถึงแม้ว่าภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จะค่อนข้างน่าเป็นห่วง และหลายสำนักก็ฟันธงว่ายังคงต่ำกว่า 2% แต่สำหรับการลงทุนก็ยังมีช่องที่เป็นโอกาสอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ ครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมยาที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% สอดคล้องกับปัจจัย 3 อ. คืออายุ อาเซียน และอาหาร ที่ ดร.อมรเทพ ได้กล่าวไว้ ว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะมีแนวโน้มที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตหลังโควิด-19 จบลง เพราะประชาชนจะหันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เป็นที่น่าจับตามอง อีกทั้งนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่น และเทใจกลับมาให้ความสนใจลงทุนในด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากทิศทางของตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้คุณไพบูลย์ยังตอกย้ำว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญและพยายามที่จะสร้างกระดานการลงทุนใหม่ขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทขนาดเล็ก ให้ได้มาใช้กระดานนี้เป็นช่องทางในการระดมทุน และริเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่จะโตไปเป็น Mega Trend ของการลงทุนในอนาคต

อีกหนึ่งพาร์ทที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือพาร์ทของการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน ผู้ประกอบการ และนักวิชาการตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมในพาร์ทนี้ คือการสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ หรือสร้างโอกาสการลงทุนร่วมกัน พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมตามหัวข้อที่สนใจ แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ 1 โอกาสสำหรับนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ (The Opportunity for Innovative Medical Device) และกลุ่มที่ 2 โอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์แห่งการเติมเต็มแบบองค์รวม (The Opportunity of Holistic Complement Product) ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีผู้ดำเนินรายการหลักคือคุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ และคุณทวีรัตน์ จิรดิลก หลังกิจกรรมในพาร์ทนี้เสร็จสิ้นลง ปรากฏว่ามีผู้สนใจลงทุนร่วมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

งานสัมมนาออนไลน์ดีๆ แบบนี้จะมีขึ้นอีกอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ BTimes, เว็บไซต์ TCELS หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] แล้วพบกันใหม่ในเร็วๆ นี้