ลำไส้ดีสุขภาพดีด้วยโพรไบโอติกส์ กับอาจารย์แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ

Share:

          เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าอยากขับถ่ายดี ลำไส้แข็งแรงต้องกินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้กับลำไส้ แล้วก็จะได้ยินอีกคำหนึ่งว่าพรีไบโอติกส์ จนหลายคนสงสัยว่าสองคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

          เรามาทำความเข้าใจกับ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) กันก่อนค่ะ ซึ่งก็คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดี มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเรานั่นเองค่ะ โพรไบโอติกส์ จะมีอยู่ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ นัตโตะ และข้าวหมาก เป็นต้น

ที่มา :pixabay.com

          ส่วน พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย จะพบได้ใน หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็นอาหารของ โพรไบโอติกส์

ที่มา :pixabay.com

          ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย กระตุ้นระบบการย่อยอาหารโดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิดช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป เหนี่ยวนำการกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างสารป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้

ที่มา :pixabay.com

          สำหรับใครที่กังวลใจว่าจะรับประทานผักและผลไม้ได้ไม่เพียงพอนั้นปัจจุบันตามท้องตลาดได้มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ให้ได้เลือกซื้อทั้งแบบผง และแบบแคปซูล แต่จะเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับร่างกายนั้น อาจารย์ แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพได้แนะนำวิธีการเลือกเอาไว้โดยพลิกฉลากสังเกตรายละเอียดคือ ในผลิตภัณฑ์จะต้องมีโพรไบโอติกส์อย่างน้อย 2 สายพันธุ์ขึ้นไป และต้องมีโพรไบโอติกส์อย่างน้อย 10 พันล้านตัวขึ้นไป ต่อ 1 แคปซูล โดยวิธีการทานนั้นหากเราทานอาหารไม่ดีทานผักผลไม้น้อยให้ทานโพรไบโอติกส์ 20 พันล้านตัวขึ้นไปต่อวัน หรือหากใครที่รับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันหลายวันให้ทานโพรไบโอติกส์ด้วยทุกวันที่มีการทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยเสริมสร้างโพรไบโอติกส์ที่ถูกทำลายจากยาปฏิชีวนะค่ะ

ที่มา :pixabay.com

          นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม หรือโยเกิร์ต แต่ใช่ว่าทุกผลิตภัณฑ์จะมีโพรไบโอติกส์อยู่ โดยมีวิธีเลือกคือสังเกตที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีโพรไบโอติกส์จำนวนเท่าไหร่ และมีสายพันธุ์อะไรบ้าง อย่าสังเกตเพียงแค่ที่ฉลากหรือโฆษณาบอกว่ามีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต และต้องดูปริมาณของน้ำตาลจะต้องมีความหวานที่น้อยมากเพราะ โพรไบโอติกส์จะไม่สามารถมีชีวิตได้ในน้ำตาลค่ะ

ที่มา :pixabay.com

          ดังนั้นการจะรักษาสมดุลของลำไส้ให้ได้ประโยชน์จากโพรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดคือรับประทานผักและผลไม้ให้ได้ 400 กรัมต่อวันหรือรับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลายในแต่ละวัน หากเรารับประทานผักและผลไม้ครบถ้วนแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการรับประทานโพรไบโอติกส์เสริม เพียงเท่านี้เราก็จะมีลำไส้ที่แข็งแรงและมีสุขภาพที่แข็งแรงแล้วค่ะ

 

สามารถติดตามเรื่องราวสาระสุขภาพได้ที่ Young @Heart Show

ตอน ลำไส้ดีสุขภาพดี

Young@Heart Show