YOUNG@HEART SHOW : อยากรวย รู้เรื่องนี้หรือยัง !!

Share:

             ความมั่งคั่ง ร่ำรวย แทบจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายชีวิตของทุกคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนคือยิ่งทำงานเงินเดือนมากขึ้น รายจ่ายต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ชีวิตเริ่มห่างไกลคำว่ารวยเพราะปลายเดือนบิลบัตรเครดิตยาวเป็นหางว่าว เพราะเราอาจจะยังไม่เคยเรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงิน  วันนี้   Young @Heart Show จะนำเคล็ดลับการจัดการเงินขึ้นพื้นฐานฯ จากหนังสือ MONEY 101 ผลงานของกูรูการเงินชื่อดัง โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ค่ะ 

Businessman with cash dollars Premium Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

             ก่อนจะเริ่มวางแผนการเงิน หนังสือเล่มนี้แนะนำว่าเราควรมีเป้าหมายชีวิตก่อน และหลังจากนั้นจะนำมาสู่การวางเป้าหมายทางการเงิน ว่าชีวิตของเราต้องการอะไร จากนั้นค่อยมาดูกันว่าต้องใช้เงินสนับสนุนเท่าไหร่ และสิ่งที่เราต้องลงมือทำจากนี้คืออะไร  ฟังแล้วอาจจะดูกว้างมากสำหรับมือใหม่ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ หนังสือเล่มนี้ได้ให้แนวทางเป้าหมายทางการเงินพื้นฐาน 4 ข้อ คือ 1.มีรายได้เพียงพอกับปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิต 2.เติมเต็มความสุขได้ตามฝัน 3.พร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน และ 4. มีความมั่งคั่งพอเพียงที่จะดูแลตัวเองจนวาระสุดท้าย  ลองทบทวนดูนะคะว่าเรามีพร้อมทั้ง 4 ข้อนี้หรือยัง

Portrait of a smiling confident man in sunglasses Free Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

              เมื่อได้เป้าหมายแล้วก็กลับมาเช็กสุขภาพทางการเงินของเรากันค่ะ คำแรกที่ต้องรู้จักคือสภาพคล่อง คือการมีกินมีใช้และเก็บอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ หากสภาพคล่องดีก็จะนำไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคต ซึ่งวิธีการที่จะทำให้สภาพคล่องเราดีมีเงินเก็บหนังสือเล่มนี้ก็แนะนำหลายแบบให้ได้เลือกใช้ตามความสะดวกเลยค่ะ สำหรับใครที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ควรจะต้องหักออมก่อนใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ เหลือเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น ต่อมาลองสะสมเศษเหรียญหยอดกระปุกไว้แล้วค่อยรวบรวมไปฝากธนาคารหรือลงทุน และสุดท้ายสำหรับสายช้อปปิ้งลองใช้วิธีการหักภาษีฟุ่มเฟือย 10 เปอร์เซ็นต์ เช่นอยากซื้อกระเป๋าราคา 3,000 บาท ก็จะต้องเก็บออมจำนวน 300 บาทนั่นเองค่ะ

Glass jar full of money in front of decreasing stacked coins against white background Free Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

             โดยเครื่องมือที่สำคัญที่จะพาเราไปสู่ความร่ำรวยคือเราต้องทำงบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งมี 2 ส่วน คืองบรายรับรายจ่าย ที่หลายคนอาจจะทำอยู่แล้วในแต่ละเดือนเพื่อบริหารหารเงิน และต่อมาคือ งบแสดงฐานะทางการเงิน อันนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไหร่ใช่ไหมคะ จริง ๆแล้วก็คือการเปรียบเทียบให้เห็นว่าเรามีสวนของทรัพย์สินและหนี้สินเท่าไหร่ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราเห็นชัดเลยค่ะว่าชีวิตเราใกล้หรือไกลความมั่งคั่งร่ำรวยแค่ไหน

              จากนั้นก็มาสู่การออม ซึ่งขั้นแรกของการออมคือการมีเงินสำรองฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ตกงาน เจ็บป่วย ถ้ามีเงินก้อนนี้สำรองไว้ก็จะไม่ต้องลำบาก โดยโค้ชหนุ่มแนะนำว่าควรมีเงินสำรองตรงนี้ 6-12 เท่าของรายจ่ายรวมต่อเดือน เช่น คุณมีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ต้องมีเงินสำรอง 6 เดือน X 20,000 บาท เท่ากับว่าคุณต้องมีเงินทั้งหมด 120,000 บาท นั่นเองค่ะ โดยเงินก้อนนี้ก็ควรเก็บไว้ในที่ที่สะดวกหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์

Front view arrangement of economy elements Free Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

              ต่อมาคือเงินสำหรับเกษียณ เงินก้อนนี้คือเงินเก็บจากการทำงานทั้งชีวิตของเราสำหรับไว้ใช้ในยามเกษียณอายุการทำงาน โดยจะเน้นทยอยสะสมลงทุนที่ไม่ซับซ้อน และเงินเกษียณเร็ว คือการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอเกษียณอายุจริงนั่นเองค่ะ

            เราจะได้ความรู้เรื่องการเงินจากหนังสือเล่มนี้มาเกินครึ่งทางแต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนไปต่อลำบากก็คือ “หนี้ ฟังแล้วมันบาดใจกันนะคะ ซึ่งสำหรับโค้ชหนุ่มนั่นไม่ได้ให้รังเกียดหรือกลัวการเป็นหนี้ แต่ก่อนจะดีใจคุณต้องรู้ก่อนว่าหนี้ที่คุณมีเป็นแบบไหน หนี้รวย ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม เช่นการนำเงินไปลงทุนต่อยอด หรือ หนี้จน คือยิ่งมีหนี้ก้อนนี้แล้วยิ่งจนนั่นเอง ส่วนมากก็จะเกิดจากการใช้จ่ายในชีวิต ผ่อนสินค้า บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ตัวนี้ควรหลีกไกลให้มากที่สุดค่ะ  ส่วนหนี้บ้านหนี้รถตรงนี้ยังถือว่าเป็นหนี้เพื่อความจำเป็น แต่ก็ต้องบริหารการเงินให้ดีอย่าให้ขาดสภาพคล่องก็จะปลอดภัยค่ะ

Concept of the man is stressed with debt owed by using credit card Premium Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

              การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ จะไม่มีหนี้ได้นั้นก็ต้องปรับพฤติกรรมและแก้ที่ใจค่ะ เริ่มจากการไม่ใช้จ่ายเกินตัว อย่าใช้เงินในอนาคตใช้เท่าที่มี เลิกนิสัยการอุปถัมภ์เกินกำลัง เพราะสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่ต้องมีน้ำใจหยิบยื่นช่วยเหลือกัน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาทางการเงินของหลายๆคน เราต้องตั้งสติและพิจารณาให้การช่วยเหลือครอบครัวอย่างเหมาะสมหากกู้เงินหรือหยิบยืมก็อาจจะทำให้การเงินของเรามีปัญหาตามไปด้วยได้ค่ะ  สุดท้ายคือการลงทุนที่ผิดพลาด ซึ่งทำให้หลายคนหมดเนื้อหมดตัวกันมาแล้ว เพราะขาดความรู้ทางการลงทุน โลภอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ จึงนำมาสู่ความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นไป

Young businessman throughs around dollars and dances on the street Free Photo

ที่มารูปภาพ : freepik.com

              เมื่อมีแผนแล้วสิ่งสำคัญคืออย่าลืมติดความรู้ทางปัญญา ด้วยการหาความรู้เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ต่อด้วยการลดความเสี่ยงแผนการเงินพังทะลายด้วยการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อความปลอดภัยของเงินสะสมของเรา อย่าลืมว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นก้อนที่เราไม่สามารถต่อรองหรือผ่อนผันได้  สุดท้ายคือเรียนรู้เกี่ยวกับภาษีวางแผนให้ดีและรู้วิธีการลดย่อนรับรองว่าอนาคตเราจะได้มีการเงินที่มั่งคั่งค่ะ

Young@Heart Show