6 เดือนคือเวลาทองการฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรค จริงไหม!!

Share:

“6 เดือนคือเวลาทองในการฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรค” ประโยคที่ญาติหรือผู้ป่วยสโคตรมักจะ ได้ยินเสมอ วันนี้ Young @Heart Show จะพามาไขข้อข้องใจว่าช่วงเวลาทองที่พูดๆกันนี้จริงหรือไม่ กับ ผศ.นพ. ภาริส วงศ์แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เจ้าของเพจ Stroke BOOT CAMP by ผศ.นายแพทย์ ภาริส วงศ์แพทย์

คุณหมออธิบายว่าสำหรับประโยคที่ว่า “6 เดือนคือเวลาทองในการฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรคเป็นความจริง” แต่ต้องเสริมความเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่เป็นโทษต่อผู้ป่วย โดยที่มาของระยะเวลา 6 เดือนในการฟื้นฟูมาจากการศึกษาวิจัยในปี ค.ศ.1980 จากการศึกษาระยะเวลาการฟื้นฟูผู้ป่วย โดยในเดือนแรกฟื้นตัวเร็วมาก หลังจากนั้นก็มีการฟื้นฟูดีขึ้นแต่จะช้าลง จนกระทั่งในเดือนที่ 6 มีการฟื้นฟูได้แต่ช้ามาก แต่ยังฟื้นฟูได้อยู่

ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาว่าสมองสามารถฟื้นตัวได้ด้วยการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ ผู้ป่วยที่เป็นสโตรคสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ แม้ว่าหลัง 6 เดือนจะช้าลงแต่ไม่ใช่จุดจบในการฟื้นฟู โดยการจะฟื้นฟูผู้ป่วยนั้นต้องหลังจากอาการคงที่แล้ว และได้รับการประเมินพัฒนาการความก้าวหน้าจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งระบบการพูด การเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ เพื่อประเมินลำดับขั้นของผู้ป่วย จากนั้นจะออกแบบการสร้างการเรียนรู้และฟื้นฟูให้สมองส่วนที่เหลือทำงานทดแทนส่วนที่เสียหายไปแล้ว ถ้ามีการทดแทนได้มาก อาการก็จะสามารถดีขึ้นได้มากตามลำดับ

นอกจากช่วงเวลาทองแล้วสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรค คือกำลังใจ ซึ่งคุณหมอได้ฝากไว้ “คนไข้หลายคนถูกตราหน้าว่าไม่มีกำลังใจ ขี้เกียจ ไม่มีแรงจูงใจ จริงๆแล้วมนุษย์ทุกคนก็อยากดีขึ้น อยากเป็นปกติ แต่คนไข้จำนวนมากถูกตราหน้าว่าไม่ให้ความร่วมมือ เป็นเพราะว่าเขาผ่านประสบการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว เขาเรียนรู้ว่ามันไม่ดีขึ้น มันไม่ก้าวหน้าคนไข้พยายามจนหมดแรง ถ้าเราฝึกแล้ววัดผลให้เขาเห็นว่าเขาดีขึ้น เขาจะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล เขาควรมีสิทธิ์เลือก โดยต้องประเมินพัฒนาการตามความเป็นจริง กำลังใจต้องอิงความเป็นจริง” ก็หวังว่าจะเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลนะคะ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถเข้าไปพูดคุยกับคุณหมอได้ที่เพจ Stroke BOOT CAMP by ผศ.นายแพทย์ ภาริส วงศ์แพทย์ ค่ะ

 

 

 

สามารถรับชมเรื่องราวสาระสุขภาพดีๆได้ที่ Young @Heart Show

ตอน เวลาทองการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

Young@Heart Show